IVL จับมือ 7 พันธมิตร หนุนผลิต “เส้นใยโพลีเอสเตอร์” ยั่งยืน
IVL จับมือพันธมิตรพัฒนาห่วงโซ่อุปทานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ยั่งยืนมากขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ใช้วัสดุที่มาจาก CO2 เป็นหลัก รวมถึงวัสดุหมุนเวียนและชีวภาพ ภายใต้ความร่วมกันของ 7 บริษัท จาก 5 ประเทศ
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท 7 แห่ง จาก 5 ประเทศ เพื่อก่อตั้งห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าวัสดุที่สามารถหมุนเวียนได้และวัสดุที่มาจากชีวภาพ รวมถึงวัสดุที่ผลิตผ่านการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCU para-xylene)*2 จะถูกนำมาใช้ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับแบรนด์ THE NORTH FACE ในประเทศญี่ปุ่น แทนที่จะใช้วัสดุจากฟอสซิล
นอกเหนือจาก อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทย พันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ ได้แก่ Goldwin ในบทบาทของเจ้าของโครงการ Mitsubishi Corporation, Chiyoda Corporation (ทั้งสามจากประเทศญี่ปุ่น), SK geo centric (เกาหลีใต้), India Glycols (อินเดีย) และ Neste (ฟินแลนด์) เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตจากโครงการนี้มีแผนที่จะใช้โดย Goldwin บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญในการออกแบบและผลิตเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้ากลางแจ้งประสิทธิภาพสูง
โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ THE NORTH FACE ซึ่งรวมถึงเครื่องแบบกีฬาที่จะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 หลังจากนั้นจะพิจารณาเปิดตัวผลิตภัณฑ์และแบรนด์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์ Goldwin ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้ง 7 บริษัทนี้ ได้นำแนวทางการจัดการวัสดุแบบสมดุลมวลสาร (mass balancing approach) มาใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัสดุได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และจะร่วมกันส่งเสริมการลดการใช้วัสดุจากฟอสซิลอย่างเต็มที่ เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น
ยาช โลเฮีย ประธานบริหารโครงการพิเศษด้านปิโตรเคมี (Petchem Special Projects) อินโดรามา เวนเจอร์ส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือครั้งนี้ว่า
“เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในโครงการริเริ่มที่ก้าวล้ำนี้ ที่อินโดรามา เวนเจอร์ส เรามุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนาโซลูชั่นที่ยั่งยืน และโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความทุ่มเทของเราในด้านนวัตกรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อม และการก้าวไปสู่ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ของอินโดรามา เวนเจอร์ส โดยการใช้วัสดุที่ได้จาก CO2 ทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนได้ และทางเลือกที่มาจากชีวภาพ ความพยายามร่วมกันนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระดับโลกในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและอื่นๆ ต่อไป”