เจ้าแรกในอาเซียน! THCOM คว้าไลเซนส์วัด “คาร์บอนเครดิต” ระบบดาวเทียม-AI

 THCOM ประกาศความสำเร็จ! คว้าไลเซนส์ตรวจวัดคาร์บอนเครดิต ด้วยระบบดาวเทียม-AI เจ้าแรกในไทย-อาเซียน จาก “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก” ภายใต้แพลตฟอร์ม “Carbon Watch” ชูตรวจวัดแม่นยำ 90% ประเดิมมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 2.9 แสนไร่ ก่อนขยายบริการภาครัฐ-เอกชน เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมตอกย้ำการเป็นองค์กร Space Tech ที่ช่วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน


นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM  เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคต้นไม้ โดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รายแรกในประเทศไทยและในอาเซียน ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

นอกจากนี้มีแผนที่จะร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ประเมินคาร์บอนในป่าชุมชน และเดินหน้าขยายความสำเร็จสู่โครงการอื่นๆ ของภาครัฐ-เอกชน เพื่อขับเคลื่อประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) โดยสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ดูดซับในแต่ละพื้นที่ที่มีความแม่นยำเกิน 90% ซึ่งลูกค้าสามารถนำข้อมูลคาร์บอนเครดิตไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายไปยังสปป.ลาวและเมียนมา เนื่องจากมีป่าไม้อีกจำนวนมาก ภายใต้แพลตฟอร์ม “Carbon Watch”

นายปฐมภพ กล่าวอีกว่า บริษัทมีความยินดีอย่างยิ่งที่ แพลตฟอร์ม Carbon Watch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเรา ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของเราในหลายมิติ

โดยที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด ส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม Carbon Watch ของเราได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ  พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

บริษัทวางเป้าผลักดันธุรกิจ Space Tech เป็น New S-Curve ทั้งธุรกิจแพลตฟอร์ม Carbon Watch ล่าสุด และธุรกิจกลุ่มดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ หรือ LEO (Low Earth Orbit Satellite) โดยบริษัทตั้งเป้าหมายแรกจะมีสัดส่วนรายได้ 20% ของรายได้รวมภายใน 2-3 ปี จากปัจจุบันมีสัดส่วน 1-2% โดยมองว่าในอนาคตรายได้ของธุรกิจ Space Tech เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเทียบไม่ได้กับธุรกิจหลักที่ทำมา 30 ปี แต่บริษัทมองแล้วเป็นโอกาสในอนาคต โดยเฉพาะ Carbon Watch เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้ไม่มีใครทำ โดยแพลตฟอร์ม Carbon Watch บริษัทจะเก็บค่าบริการโดยประเมินอยู่ที่ 100-300 บาท/ไร่ และต่อครั้ง โดยการวัดคาร์บอนเครดิตบางโครงการจะทำทุก ๆ 3 ปี ในพื้นที่ป่าไม้ของลูกค้า และภายหลังได้ไลเซนส์คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการและมีรายได้มากขึ้น เนื่องจากบริษัทมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าช่วยยืนยันข้อมูล และเครื่องมือที่ใช้วัดมีความแม่นยำ 90% แนวโน้มความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตในอนาคตมีจำนวนมากขึ้นและดีมานด์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรใหญ่ที่ปลูกป่าและใช้เคลมคาร์บอนเครดิต รวมทั้งภาครัฐในมุมของประเทศชาติก็ต้องวัดคาร์บอนที่ปล่อยในประเทศและคาร์บอนที่ดูดซับในประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ซึ่งต้องนำไปรายงานสหประชาชาติ” นายปฐมภพ กล่าวเพิ่มเติม 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจดาวเทียมของ THCOM เดินหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ 3 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 9, ดาวเทียมไทยคม 9A และดาวเทียมไทยคม 10 ที่ตำแหน่งวงโคจร 119.5E ส่วนความคืบหน้าการใช้บริการของลูกค้าในดาวเทียมดวงใหม่ๆยังเดินหน้าตามแผน

โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดใหญ่ “ไทยคม 10” ขนาด 120 Gbps ซึ่งบริษัทได้เซ็นสัญญาจำนวน 50% ของความจุทั้งหมดเป็นเวลานาน 16 ปี กับ Eutelsat บริษัทดาวเทียมรายใหญ่จากฝรั่งเศส ซึ่งทำให้บริษัทใกล้ถึงจุดคุ้มทุน (Break Event)ของกรลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ จึงรับประกันได้ว่าบริษัทจะไม่ต้องกังวลว่าจะขาดทุนจากการลงทุนดาวเทียมอีก โดยบริษัทมีเป้าหมายก่อนยิงดาวเทียมขึ้นในปี 2570 ประมาณ 75% ของการใช้งานทั้งหมดหรือประมาณ 90 Gbps จาก 120 Gbps

ส่วนดาวเทียมเล็กมีสัดส่วนลูกค้าสัดส่วนประมาณ 60-70% เนื่องจากบางส่วนเป็นลูกค้าเก่าย้ายมาจากดาวเทียมไทยคม 4 และบางส่วนย้ายมาจากโปรเจกโครงการภาครัฐที่ต้องใช้ก่อนปี 70 โดยในช่วงปี 67-70 บางครั้งต้องมีดาวเทียมต่างชาติมาใช้เนื่องจากการใช้งานของเราไม่เพียงพอในช่วงจังหวะนี้ โดยดาวเทียมไทยคม 9A จะมาก่อนโดยซื้อจากผู้ประกอบการดาวเทียมในยุโรปและจะลากดาวเทียมดวงดังกล่าวมาที่ประเทศไทย ระยะเวลาใช้งาน 3 ปี เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 รวมถึงดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ที่มอบให้กับรัฐ จะมีดาวเทียมบางดวงที่กำลังจะหมดอายุในอีก 2 ปี โดยจะขึ้นสู่วงโคจรประมาณกลางปี 2568

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/67 โตดี และแนวโน้มครึ่งปีหลังโตเด่นกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนพอร์ตจากดาวเทียมดวงเก่าไปสู่ดวงใหม่ และดาวเทียมใหม่จะขึ้นในต้นปีตอนนี้ก็พยามยามรักษากำไรของบริษัทให้ดีที่สุด นอกจากนี้จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ๆเข้ามาหนุน รวมถึงภาพการเติบโตที่ดีจะเห็นตั้งแต่ช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

ด้านม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคสนามของเรา มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองในวันนี้

โดยเราได้นำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยคม จนได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำออกมา นอกจากนี้ผมยังเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งให้เกิดการพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

“จากการเข้าร่วมเวทีนานาชาติล่าสุดถ้าต้องการให้เราควบคุมอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา ราคาคาร์บอนเครดิตที่มาจากภาคป่าไม้ควรจะอยู่ที่ระดับ 85 เหรียญต่อตัน และอีกเทรนด์หนึ่งที่จะเข้ามากำหนดราคาขั้นต่ำ ซึ่งยังไม่ได้คุยในรายละเอียดว่าราคาต่ำสุดจะอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าจะมีการแบ่งตามกราฟระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่ด้วยพัฒนาอีกราคา และพัฒนาแล้วอีกราคา ซึ่งโครงสร้างราคาจะไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เราควบคุมอุณภูมิไม่ให้เกินระดับ 1.5 องศา คาร์บอนต้องขายอยู่ที่ระดับ 85 เหรียญต่อตัน ซึ่งของทางมูลนิธิสามารถขายได้ระดับ 1,800 บาท/ตัน เกือบ 50 เหรียญต่อตัน” ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ในฐานะที่ อบก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER ผู้ดำเนินโครงการต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของภาคป่าไม้  อบก. ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกใช้ วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องแม่นยำจาก อบก. ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการ T-VER

โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย  และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

Back to top button