TISCO ตั้งสำรองเพิ่ม กดกำไรไตรมาส 2 ลดลง 6% แตะ 1.7 พันล้าน

TISCO รายงานกำไรไตรมาส 2 แตะ 1.74 พันล้านบาท ลดลง 5.66% จากปีก่อนมีกำไร 1.85 พันล้านบาท หลังตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกมีกำไร 3.48 พันล้านบาท ลดลง 4.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 3.64 พันล้านบาท


บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนแรกของปี 67 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

ทั้งนี้ กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 67 ของบริษัทมีจำนวน 1,748.99 ล้านบาท ลดลง 104.90 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.70 จากไตรมาส 2 ปี 66 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.50 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ และการรับรู้ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 17.10

ส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวร้อยละ 0.90 ตามการเติบโตของสินเชื่อ แม้ว่าต้นทุนทางการเงินยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจจัดการกองทุนฟื้นตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงอ่อนแอ เป็นไปตามมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (ECL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.70 ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย จากการตั้งสำรองเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่ เพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

โดยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 67 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.90 เป็นผลมาจากการรับรู้ค่าธรรมเนียม ธุรกิจวาณิชธนกิจ และผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตร้อยละ 18.60

นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจจัดการกองทุนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงร้อยละ 0.20 จากต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงปีก่อนหน้า ส่วนสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเพื่อรองรับความเสี่ยงที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

Back to top button