BBGI พุ่งแรง 12% นิวไฮรอบกว่า 1 ปี ลุ้น Q2 โตเด่น รับยอดขายไบโอดีเซลพุ่ง

BBGI พุ่งแรง 12% นิวไฮรอบกว่า 1 ปี ลุ้นไตรมาส 2/67 แจ่ม ดันทั้งปี 67 กำไรโตเด่น รับปัจจัยหนุนจาก BSRC ช่วยดันยอดขายไบโอดีเซลพุ่ง พร้อมจับตาปี 68 ผลงานโตก้าวกระโดด บันทึกรายได้เพิ่มจากโรงงาน SAF และโรงงาน CDMO เฟสแรกเดินเครื่อง


ผู้สื่อข่าวรายานว่า วันนี้(12 ก.ค.67) ราคาหุ้นบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ณ เวลา 16:02 น. อยู่ที่ระดับ 7.15 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 11.72% ราคาสูงสุด 7.25 บาท ราคาต่ำสุด 6.40 บาท  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 127.53 ล้านบาท โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในรอบ 1 ปี 9 เดือน โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 7.15 บาท เมื่อวันที่ 26 ก.ย.65 คาดเก็งกำไรผลงานไตรมาส 2/67 เด่นต่อหลังไตรมาส 1/67 มีกำไรสุทธิ 119.84 ล้าน ซึ่งสูงกว่ากำไรสุทธิทั้งปี 66 อยู่ที่ 9.87 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBGI เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง หลังจากผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ออกมาดี โดยมีรายได้รวม 4,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% และมีกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 490% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เข้าซื้อบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC ส่งผลให้ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลและเอเทานอลของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะไบโอดีเซลที่เติบโตกว่า 80% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติยอดขายสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ขณะที่ธุรกิจเอทานอล ยังมีสถานการณ์วัตถุดิบราคาสูง บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนควบคู่กับการปรับปรุงการผลิตและบริหารการขายให้มีประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ทิศทางรายได้ปี 2567 บริษัทคาดว่าจะยังเติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 13,874.47 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากยอดขายไบโอดีเซลและเอทานอลที่เพิ่มขึ้นทั้งจาก BCP และ BSRC ซึ่งมีปริมาณรวมกันมากกว่าซัพพลายของ BBGI ซึ่งอยู่ที่ 1.8 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 1 ล้านลิตรต่อวัน และเอทานอล 8 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ดังนั้นบริษัทจึงมีการจัดหาในส่วนนี้เข้ามาอีกประมาณ 30% โดยปัจจุบันการจัดหาซัพพลายส่วนเกินดังกล่าว BBGI ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาการขยายการลงทุนด้วย เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบของดีลร่วมทุน หรือการเข้าไปถือหุ้นในโรงงานที่เดินเครื่องอยู่แล้ว มากกว่ารูปแบบการลงทุนเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2568 คาดว่ามีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะนอกจากจะรับปัจจัยหนุนจากยอดขายไบโอดีเซลและเอทานอลที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในปี 2568 โรงงานผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่ร่วมทุนกับบางจากฯ อยู่ 20% โดยมีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิต SAF ได้ภายในไตรมาส 1/2568

นอกจากนี้ โรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization หรือ CDMO) ในเฟสแรก ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่ 2,000 ตันต่อปี โดย BBGI จะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 75% พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงประมาณต้นปี 2568 โดยล่าสุดได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว ทำให้ BBGI จะมีรายได้จากส่วนนี้เข้ามาเพิ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายโรงงาน CDMO เฟสสอง ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า เพื่อป้อนให้กับลูกค้าในประเทศอินเดีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BOI ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนบริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด เพื่อจัดตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีการหมักที่แม่นยำ (Precision Fermentation) เพื่อผลิตเซลลูโลซิก เอนไซม์ (Cellulosic Enzyme) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม โดยขยายขนาดจากระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Scale) ขนาดใหญ่ นับเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกในอาเซียน

โดยบริษัทดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่าง BBGI ในกลุ่มบางจากฯ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง กับบริษัท เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ (Fermbox Bio) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology: SynBio) และด้านการขยายกำลังการผลิตไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Lab-to-launch) โดยบริษัทวางแผนที่จะตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Hub) ใน EEC มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

สำหรับโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะผลิตเซลลูโลซิก เอนไซม์ ด้วยอุปกรณ์ขั้นสูงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีกำลังการผลิตในระยะแรก 200,000 ลิตร ภายใต้เงินลงทุน 440 ล้านบาท และมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้ถึง 1 ล้านลิตร ในระยะต่อไป และจะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากในประเทศ และวางแผนจะตั้งให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio hub) ของบริษัท

Back to top button