WTI ปิดลบ 41 เซนต์ เซ่น “จีน” นำเข้าน้ำมันดิบลดลง

WTI ปิดลบ 41 เซนต์ ปิดที่ 82.21 ดอลลาร์/บาร์เรล หลัง “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค” ในสหรัฐเดือนก.ค. ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 66.0 พ่วงดีมานด์น้ำมัน “จีน” ลดลงกดราคา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (12 ก.ค. 67) ขณะที่นักลงทุนประเมินความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่อ่อนแอลง กับข้อมูลที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 82.21 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 37 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 85.03 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1.1% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงมากกว่า 1.7%

ขณะที่ผลสำรวจรายเดือนของมหาวิทยาลัยมิชิแกนแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนในเดือนก.ค. แม้ว่าความคาดหวังเกี่ยวกับเงินเฟ้อดีขึ้นในปีหน้าและปีถัดไปก็ตาม โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 66.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 68.5 จากระดับ 68.2 ในเดือนมิ.ย.

ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่คาดเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนการบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.4% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ สัญญาณอุปสงค์ที่อ่อนแอลงจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น อาจถ่วงราคาน้ำมันลงด้วย หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนร่วงลง 11% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี

Back to top button