“ก.ล.ต.” แจง 7 ปมสงสัยฟัน “สมโภชน์-อมร-พรเลิศ” ไซฟ่อนเงิน EA จำนวน 3.5 พันล้าน  

“ก.ล.ต.” ชี้แจง 7 ปมสงสัย กรณีกล่าวโทษ “สมโภชน์ อาหุนัย-อมร ทรัพย์ทวีกุล” กรรมการและผู้บริหาร EA และ “พรเลิศ เตชะรัตโนภาส” เข้าข่ายไซฟ่อนเงินบริษัท 3.5 พันล้านบาท เตรียมส่ง DSI-ปปง.สอบต่อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรณีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีมติกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รวม 3 ราย ได้แก่ นายสมโภชน์ อาหุนัย และ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารบริษัท EA รวมทั้ง นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้นของ EA เนื่องมาจากการกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท  เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท .

โดยการกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ล่าสุดวันนี้(14 ก.ค.67) ก.ล.ต. ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร EA กับพวก ใน 7 ประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัย เริ่มตั้งแต่การดำเนินการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร EA ใช้เวลาในการดำเนินการล่าช้านั้น เรื่องนี้เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น

นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งการเรียกมาสอบถ้อยคำ และการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่ง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

ส่วนประเด็นเรื่องอายุความคดี เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558) ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558)

ขณะเดียวกันเหตุผลที่ ก.ล..ดำเนินคดีทางอาญา เนื่องจากเป็นความผิดทุจริตมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1)

โดยการกล่าวโทษในกรณีนี้มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษ ไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทhttps://publish.sec.or.th/nrs/7200s.pdf

ส่วนการลงโทษกรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน ส่วนกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ก.ล.. ยังย้ำว่า การดำเนินการกล่าวโทษครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า EA อาจมีการทุจริตผ่านบริษัทย่อยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน จึงได้ตรวจสอบหาความจริงและความถูกต้องว่าเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ

ภายหลังจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

Back to top button