“สมโภชน์-อมร” แจ้งลาออก CEO รองซีอีโอ EA ยันความบริสุทธิ์! หลัง ก.ล.ต.กล่าวโทษทุจริต
“สมโภชน์-อมร” แจ้งลาออกทุกตำแหน่งใน EA เพื่อความโปร่งใส พร้อมเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้เต็มที่ มั่นใจความบริสุทธิ์ หลัง “ก.ล.ต.” กล่าวโทษทุจริตเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ-จัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่นครสวรรค์และลำปาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.ค.67) นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร เพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน
โดยจากกรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศและ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทำทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการรับเหมาแบบทั้งโครงการ (Turn Key) มีการทำสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆของโครงการทั้งหมด
สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็นการตัดสินใจของบริษัท ของสมโภชน์ หรือของอมร โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ต้องไปจัดหา โดยกำหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง โดยการกำหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นำหรือควบคุมได้โดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่าค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆในช่วงเวลานั้น
ทั้งนี้ อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน โครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงสุด จนทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษมานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ยังไม่ได้ถือว่าขณะนี้นายสมโภชน์และนายอมรเป็นบุคคลผู้กระทำผิดและพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป
อนึ่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่าในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
โดยการกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้การกล่าวโทษดังกล่าว มีผลให้นายสมโภชน์ และนายอมร เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของ EA ทุกตำแหน่ง นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560