อบก. ไฟเขียว TEAMG ขึ้นทะเบียนหน่วยตรวจ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์”
อบก. ไฟเขียว TEAMG รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจสอบและทวนสอบ CFO จาก อบก.ใน 8 สาขา ชูจุดแข็งบุคคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง ตอบสนองข้อกำหนดของ กลต. และข้อบังคับทางกฏหมาย
ดร.สุพัฒนา วิชากูล รักษาการกรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐาน บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ TGO ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุมัติให้ TEAMG ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งสามารถให้การรับรองและทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ใน 8 สาขา ได้แก่ 1.การผลิตพลังงาน และการจัดการพลังงานไฟฟ้า 2.อุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป 3.อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมี 4.การดักจับและเก็บก๊าซเรือนกระจก 5.การขนส่ง 6.การจัดการและกำจัดของเสีย 7.การเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน 8.กิจกรรมการบริการทั่วไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันบริษัทที่มีการดำเนินงานข้ามชาติหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก มีการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองข้อกำหนดของ กลต. และข้อบังคับทางกฏหมาย ในขณะเดียวกันบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ได้เริ่มมีการรับรู้ถึงความสำคัญของการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์และการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
สำคัญที่สุด คือกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี เหล็ก ซีเมนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังตอบสนองกลุ่มที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสากล การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อาจเป็นเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยง แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมักมีข้อกำหนดการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามสิ่งแวดล้อม
“การที่ต้องมีหน่วยงาน บริษัทหรือบุคคลให้คำปรึกษาการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product : CFP) มีความสำคัญเพราะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวิธีกาiคำนวณ เก็บข้อมูลและมาตรฐานต่างๆ เช่น ISO 14064 และ GHG Protocol ต้องอาศัยที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถให้คำแนะนำแนวทางที่ถูกต้องในการปรับปรุงและพัฒนาแผนการลดคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ ดร.สุพัฒนา วิชากูล กล่าว
ดังนั้น การจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เป็นระบบและมีมาตรฐานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย สุดท้ายที่ปรึกษาสามารถช่วยเตรียมความพร้อมในการจัดทำรายงานและตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรับรองและยืนยันผลการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นอกจากนี้บริษัทยังได้ใบรับรองระบบงานเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Validation / Verification Body, VVB) ก๊าชเรือนกระจก ISO/IEC 17029:2019 และ ISO 14065 : 2020 (Greenhouse gases – Requirement for greenhouse gas validation and verification bodies fort use in accreditation or other forms recognition ) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ)
“สำหรับการตรวจสอบความใช้ได้ (validation) และ ทวนสอบ (verification) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) อยู่ระหว่างการพิจารณาจาก สมอ. และ อบก. ซึ่งคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในเดือนสิงหาคม ปีนี้” ดร.สุพัฒนากล่าว
อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่า TEAMG มีโอกาสเติบโตในอนาคต เนื่องจากมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดการปล่อย จากกฏข้อบังคับและจากการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสขยายตัวในภูมิภาคอาเซียน
“ด้วยประสบการณ์กว่า 45 ปี ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาแบบครบวงจร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ให้บริการครอบคลุมทุกมิติ เป็นเครื่องยืนยันถึงความพร้อมด้านเทคนิค ทรัพยากร และธรรมาภิบาลการจัดการองค์กร ทำให้เราได้เปรียบในการตลาดแข่งขันนี้” ดร.สุพัฒนา วิชากูล กล่าวทิ้งท้าย