อาฟเตอร์ช็อก! “แบงก์เจ้าหนี้” เสี่ยง “ตั้งสำรอง” หากเครดิต EA ตกชั้นเป็น Stage 3

นักวิเคราะห์ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ EA อาจส่งผลให้ “แบงก์” ที่ปล่อยสินเชื่อมีโอกาสตั้งสำรอง หากเครดิตสินเชื่อตามมาตรฐาน TFRS9 ของ EA เปลี่ยนแปลงเป็น Stage 3


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรณี นายสมโภชน์ อาหุนัย และ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รวมทั้ง นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้นของ EA ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติกล่าวโทษจากการกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และการทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท

ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ชำระหนี้ของบริษัท โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่ง EA อยู่ระหว่างการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ที่จะเปิดขายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ อาจไม่ได้รับผลตอบรับจากนักลงทุน

ขณะที่ฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด ได้ให้ข้อมูลอ้างอิงข้อมูล ณ สิ้น ไตรมาส 1/67 ของ EA มีหนี้สินจากสถาบันการเงินทั้งสิ้นจำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท และหนี้สินระยะยาวจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของลูกค้า ทำให้ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่าธนาคารพาณิชย์ไหนปล่อยสินเชื่อให้ EA บ้าง  แต่ประเมินว่าสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ EA น่าจะมีหลักประกันบางส่วนและบางส่วนก็เป็นสินเชื่อ Project finance และเมื่อสอบถามไปทางธนาคารพาณิชย์ และได้รับข้อมูลมาว่า KKP และ TISCO ไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ EA และ TTB มีการปล่อยสินเชื่อให้กับทาง EA ไม่ถึง 1 พันล้านบาท โดยหากทางฝ่ายวิจัยมีข้อมูลเพิ่มเติม จะรายงานในลำดับถัดไป

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยได้ทำ sensitivity analysis ภายใต้ในกรณีเลวร้ายสุด คือ สินเชื่อของ EA ไหลตกชั้นเป็น Stage 3 หรือ NPLs จะทำให้ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ EA ต้องชั้นจัด และตั้งสำรองหนี้ฯ สูงขึ้นเฉลี่ยเป็น Stage 3 หรือหนี้เสีย NPLs จากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าอยู่ใน Stage 1

ทั้งนี้ หากธนาคารพาณิชย์ที่ทำการศึกษา ปล่อยสินเชื่อให้ EA ทุกๆ จำนวน 1 พันล้านบาท ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2567 เรียงผลกระทบตามลำดับ ได้แก่ KTB ที่ 1.4%, BBL ที่ 1.4%, SCB ที่ 1.0% แล: KBANK ที่ 0.8% ขณะที่ประเมินว่า TTB จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยไม่เกิน 1.7% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2567

ดังนั้น มองว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ EA บ้าง และเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ ประเมินว่าธนาคารส่วนใหญ่มีสำรองส่วนเกิน (Management overlay) เพื่อรองรับความเสี่ยงไว้บางส่วนแล้ว และประเมินว่า EA จะยังดำเนินธุรกิจหลักได้ ทำให้ประเมินว่าธนาคารน่าจะบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้

Back to top button