“เอเซีย พลัส” ลุ้น SET ไตรมาส 3 ทดสอบ 1,350 จุด แนะลงทุน 2 ธีม รับกระตุ้นศก.-ปันผลสูง

“บล.เอเซีย พลัส” ลุ้น SET ไตรมาส 3/67 ยืนเหนือ 1,350 จุด แนะลงทุน 2 ธีมเด่น รับอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และหุ้นปันผลระหว่างกาลสูง


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่ม บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS เปิดเผยว่า ได้ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/2567 มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุดหลังเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่ภาพเศรษฐกิจโลกที่ดูผ่อนคลายลงจากความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยท่ามกลางวัฏจักรดอกเบี้ยโลกขาลงเริ่มชัดเจน

โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3/2567 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนสนับสนุนให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพทยอยแข็งค่ามากขึ้นและปัจจัยภายในประเทศเริ่มจากความกังวลสถานการณ์การเมืองอาจมีแรงกดดันลดลง หลังคดีความต่างๆ เริ่มเห็นถึงกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ (Bottom out) จากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ ภาคการการลงทุน  รวมถึงภาคการบริโภค ซึ่งคาดการณ์เป็นตัวช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP GROWTH) ทยอยเติบโตเป็นขั้นบันได โดยทั้งปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า GDP จะเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า แม้การลดดอกเบี้ยในไทยอาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ในช่วงไตรมาส 3/2567 ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าลงทุนมากขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนี้

1.กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/2567 มีโอกาสเติบโตทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างโดดเด่น จากฐานกำไรช่วงไตรมาส 2/2567 ที่ต่ำกว่าปกติ และทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับสูง สนับสนุนให้กำไรไตรมาส 2/2567 ที่มีโอกาสอยู่ในกรอบ 2.3–2.7 แสนล้านบาท

2.มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,300 จุด มี PER67F ที่ 14.2 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.2 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี), Dividend Yield 3.5% (+1SD ในรอบ 10 ปี)

3.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเริ่มจาก 1 กรกฎาคม 2567 ประกาศการใช้กฎ “Uptick rule” ทุกบริษัท ซึ่งลดการทำธุรกรรม Short Sell ได้อย่างมีนัยสำคัญ บวกกับคาดหวังเม็ดเงินจาก กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ ThaiESG ซึ่งมีการปรับเงื่อนไขใหม่อาจทำให้มีการไหลกลับเข้ามาของเม็ดเงินหนุนตลาดหุ้นราว 6–7 หมื่นล้านบาท โดยจะช่วยสนับสนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสดและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในพอร์ตช่วงเวลาที่เหลือของปี อีกทั้งมีกระแสการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ แบบการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำเพื่อพยุงตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นพื้นฐานดี ได้เม็ดเงิน THAIESG ใหม่เข้ามาหนุน กับ 2 ธีมหลัก คือ 1.หุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK รวมไปถึง 2.หุ้นปันผลระหว่างกาลสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  หรือ SIRI, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาส 3/2567 การคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ไทยยังคงไซด์เวย์ (Sideway Down) แนะนำทยอยซื้อหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade โดยทีมผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังไปได้ดี และเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่มีอายุไม่ยาวมากและมีอันดับเครดิตตั้งแต่ Invesetment grade ขึ้นไป ข้อมูลจาก สมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA แสดงให้เห็นว่า สิ้นไตรมาส 2/2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 494,371 ล้านบาท โดย 95% เป็นการออกของหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ส่วนอีก 5% เป็นกลุ่ม High yield ซึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการออกของกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนที่สูงถึง 81% สาหรับในครึ่งแรกปี 2567 สูงขึ้นจาก 48% ในปี 2566 และมีอายุการออกเฉลี่ยที่ 2.2 ปี ลดลงจาก 2.5 ปี ในปี 2566

ส่วนกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 66,514 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ ผนวกกับการที่พันธบัตรรัฐบาลของอินเดียได้ถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ที่จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง

นางสาวลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง คาดการณ์ว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ Yield curve ของไทยยังจะมีการเคลื่อนไหวแบบ Sideway Down จากการสำรวจของ ThaiBMA ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 2567 โดยมี 43% ที่คาดว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี โดยช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้เริ่มเห็น Flow การเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีการปรับตัวลดลงสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของตลาด US โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือว่าหุ้นกู้ในตลาดเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ภายใต้สภาวะตลาดดอกเบี้ยที่มียังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวลงในอนาคต คือ ทยอยสะสมซื้อหุ้นกู้โดยไม่ว่าเป็นการลงทุนผ่านตลาดแรกหรือตลาดรองหรือลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมองว่าสามารถขยายอายุการลงทุนให้ยาวขึ้นได้ เช่น 5-7 ปี โดยหากปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง หรือกล่าวได้ว่ามีโอกาสขายทำกำไรได้ในอนาคตนั่นเอง

อย่างไรก็ตามในช่วงของครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น พอร์ทคำแนะนำลงทุนของของฝ่ายกลยุทธ์ต่างประเทศของ บล.เอเซีย พลัส ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 15.47% ซึ่งผลตอบแทนส่วนมากมาจากหุ้นในสหรัฐอเมริกา เช่น 7Magnificent, Semiconductor, Ai Theme แต่ก็มีอีกหลายตลาดที่ให้ผลตอบแทนดี ได้แก่ ญี่ปุ่น, อินเดีย และเวียดนาม คำถามสำคัญคือ เวลาที่เหลือในปีนี้หุ้นกลุ่มเดิมแต่ยังคงเป็นผู้นำตลาดอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ฤดูกาลประกาศงบการเงินใกล้เข้ามาเป็นตัวกำหนดตัวแรกว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะออกมาหน้าไหน เนื่องจากที่ผ่านมาความหวังในเรื่อง AI ค่อนข้างสูง และมาพร้อมกับฐานกำไรที่สูงของบริษัทในปีก่อน ถ้าผลออกมาดีกว่าคาดก็จะช่วยให้ Re-rating ของ P/E Ratio ที่สูงถึง 24 เท่า ในตอนนี้ให้ไปต่อได้ แต่หากไม่ใช่ ดัชนีก็จะเกิดการปรับฐานลงมาได้ โดยนักวิเคราะห์อย่าง Morgan Stanley, Bank of America ได้ออกมาบอกว่าระวังการปรับฐานและให้ Take Profit เสียบ้าง

ส่วนตัวกำหนดถัดมา คือ เรื่องลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าน่าจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกอยู่ที่เดือนกันยายน โดยการประชุมครั้งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา งประธานธนาคารกลาง นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้ระบุว่าจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงอยู่ที่เป้าหมาย 2% ซึ่งทำให้ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้งนั่นเอง

ตัวกำหนดสุดท้าย คือ การเลือกตั้งสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยคะแนนความนิยมของอดีตประธานนาธิบดีอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากหลังจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง นายโจ ไบเดน ถูกโจมตีทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิดที่ผ่านมาประกอบกับการมีอายุมากถึง 81 ปี จึงถูกตั้งคำถามว่ามีอายุมากเกินไปรึเปล่า

ทั้งนี้หาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปลายปีนี้ ตลาดหุ้นน่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนโยบายการลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่มีบางกลุ่มที่อาจเสียประโยชน์โดยเรื่องสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้าซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานสะอาดที่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนั่นเอง

ขณะที่ กลยุทธ์ที่เหมาะสมจึงมองว่าการ Take Profit บางส่วนบ้างและบริหารพอร์ตการลงทุนด้วย Structured Notes ในหุ้นกลุ่มที่ทำให้เราได้กำไรมาตอนต้นปี หากหุ้นผันผวนยังพอมีเกราะคุ้มกันได้ระดับหนึ่ง หากปลายปีฟ้าฝนเป็นใจให้ดอกเบี้ยลดลงบ้าง วันนั้นน่าจะเห็น Sector Rotation ไปยังหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กอีกครั้ง

Back to top button