REIC เปิดดัชนีราคาก่อสร้างบ้าน ไตรมาส 2 ขยายตัว 3.8%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดตัวเลขดัชนีราคาการก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 3.8% ช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนราคายังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ชูงานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนสูงสุดเพิ่มขึ้น 5.8%


ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยถึง รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 139.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงว่า ราคาก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสนี้มีการปรับตัวขึ้นไม่มาก

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 5.8 ลองลงมา คือ หมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง คงที่ร้อยละ 0.0 และหมวดงานระบบสุขาภิบาล ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ หมวดราคาวัสดุก่อสร้างเกือบทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาของไม้แบบ, ไม้โครงคร่าว, ไม้พื้น และบานประตูที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าดำเนินการและค่าขนส่ง อีกทั้งมีอุปทานที่จำกัดและความต้องการใช้ในการก่อสร้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งภาคเอกชนที่มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาไม้และผลิตภัณฑ์ไม้โดยรวมในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ รองลงมาได้แก่หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง หมวดผลิตภัณฑ์กระเบื้อง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และประปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 4.7 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 ส่วนหมวดสุขภัณฑ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ส่วนหมวดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่า

1.หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ อาทิ งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 26.9 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

งานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 67.0 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

2.หมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.8 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน พบว่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 29.4 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

สุขภัณฑ์ ราคาลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.2 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 41.4 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

3.หมวดแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.2 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานโดยค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดทำดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน เป็นประจำทุกไตรมาส โดยใช้ราคาปี 2553 เป็นปีฐานในการจัดทำดัชนีนี้ จะใช้แบบบ้าน “ครอบครัวไทยเป็นสุข 5” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นตัวแบบในการคำนวณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งแบบบ้านดังกล่าว เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร

ทั้งนี้จะใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน ราคาค่าก่อสร้างบ้าน จะนับรวม ค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับหน้าดินหมวดงานออกแบบก่อสร้างรวมถึงงานระบบที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง, งานสถาปัตยกรรม, งานระบบสุขาภิบาล,งานระบบไฟฟ้า, ระบบสื่อสารและงานอื่นๆ ส่วนหมวดวัสดุก่อสร้างจะใช้ข้อมูลราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างในกรุงเทพฯ ของกระทรวงพาณิชย์ และหมวดแรงงานจะใช้ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานในการจัดทำดัชนี

อย่างไรก็ตามข้อควรระวังในการใช้ข้อมูล คือ ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานจัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านที่ประชาชนจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างคราวละ 1 หลัง แต่ไม่สามารถใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านจัดสรรที่สร้างโดยผู้ประกอบการซึ่งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างคราวละหลายๆ หลังได้

นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติ ข้อเขียนใดๆ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือจากการประมวลผลที่เชื่อถือได้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ตรวจสอบจนมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องหรือความเป็นจริงและไม่อาจรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใดๆ จากการใช้ข้อมูลผู้นำข้อมูลไปใช้พึงใช้วิจารณญาณ และตรวจสอบตามความเหมาะสม

Back to top button