“ซอฟต์โลน” วงเงินแสนล้าน แก้ปัญหาตรงจุด?

รัฐ ดึง ออมสิน ออกซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท อุ้มรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ด้านผู้ประกอบการ SMEs เตือน ถอดบทเรียน ก่อนดำเนินโครงการ


มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ โครงการสินเชื่อซอฟต์โลน (Soft Loan) เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาล หมายมั่นปั้นมือขึ้นมา เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน จัดหาสินเชื่อวงเงิน 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 0.1% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กู้ไปปล่อยสินเชื่อต่อ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ในช่วง 3 ปีแรก โดยตั้งเป้าหมายดึงลูกค้ารายใหม่ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่า ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเติบโตจีดีพีสิ้นปี พ.ศ.2567 ที่ 2.4-2.5% ต่อปี แต่เป้าหมายรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโต คือ 3% ในปี พ.ศ.2567 และในระยะยาวต้องการให้เติบโตถึง 5%

ล่าสุด ( 16 ก.ค.67 ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ โครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ

สำหรับ สินเชื่อซอฟต์โลน ครั้งนี้ วงเงินจะกระจายไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่า เป็นวงเงินที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมีการออกมาตรการซอฟต์โลนไปแล้ว 5 แสนล้านบาท

โดยหากลองย้อนกลับมาดูมาตรการสินเชื่อซอฟต์ที่ รัฐบาลจะหยิบยื่นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ฟังแค่ชื่อโครงการและคำโฆษณาของรัฐบาล ดูเหมือนจะสามารถทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถลุกขึ้นมาสู้ได้อีกครั้ง แต่จากการสอบถาม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องถอดบทเรียนก่อนดำเนินโครงการ ก่อนหน้านี้ เคยมีซอฟต์โลนไม่ตรงปก เพราะ คนที่รับก็ไม่ตรงปก ไม่ช่วยผู้ประกอบการที่เป็น NPL รหัส 21 ให้ลดลงได้ ดังนั้นซอฟต์โลน เวอร์ชั่นนี้ ที่จะออกมา จึงอยากให้เตรียมพร้อมรองรับ 3 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเก่า เพราะคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่มีการจดทะเบียนการค้า ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ รวมถึงขาดหลักประกัน ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการนำธุรกิจเข้าระบบและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

2.กลุ่ม NPL รหัส 21 ซึ่งกลุ่มนี้ควรจะหลุดพ้น เพราะกินระยะเวลาเกิน 3 ปี แต่แท้ที่จริงแล้วในฐานข้อมูลยังติดประวัติอยู่ แต่การจะสนับสนุนสินเชื่ออาจจะต้องมีเงื่อนไขข้อกำหนดที่ชัดเจน

3.กลุ่ม NPL ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการแพร่ระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า SMEs ไทยขาดเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่อง สิ่งที่จะช่วยได้ คือ การให้ซอฟต์โลนแบบ Term Loan โดยธนาคารออมสินออกบัตรเครดิตเป็นเครดิตเพื่อการค้า ไม่ใช่ เพื่อเบิกเงินสด แต่เพื่อนำไปใช้จ่ายทั้งค่าแรง ค่าเช่า ฯลฯ ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า ต้องดึงพ่อค้า-แม้ค้า ที่มีหน้าร้าน และ ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าข่ายกฎเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือด้วย เพราะ จะเป็นการปิดโอกาสให้พ่อค้าและแม่ค้า กลับไปสู่วงจรสินเชื่อนอกระบบ และรัฐบาลเองก็สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นด้วย

Back to top button