“ดาวโจนส์” ปิดบวก 743 จุด ขานรับสหรัฐเปิดยอด “ค้าปลีก” แกร่งเกินคาด
“ดัชนีดาวโจนส์” ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่ง 742.76 จุด แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังสหรัฐเปิดยอดค้าปลีกแกร่งเกินคาด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.3% หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนในการขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อของ “เฟด” ไม่กระทบเศรษฐกิจ พร้อมจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันอังคาร (16 ก.ค. 67) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,954.48 จุด เพิ่มขึ้น 742.76 จุด หรือ +1.85%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,667.20 จุด เพิ่มขึ้น 35.98 จุด หรือ +0.64% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,509.34 จุด เพิ่มขึ้น 36.77 จุด หรือ +0.20%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.3% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. ส่วนเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนมิ.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. โดยหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.
สำหรับยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งเกินคาดทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐนั้นยังคงฟื้นตัว แม้เฟดใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม และข้อมูลดังกล่าวยังช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยหุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มวัสดุ พุ่งขึ้น 2.54% และ 1.96% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลง 0.64% และ 0.38% ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ และเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย พุ่งขึ้น 3.5% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 โดยดัชนีปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการ ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2543
ทอม เฮนลิน นักกลยุทธ์ด้านการลงทุนจากบริษัท U.S. Bank Wealth Management ในรัฐมินนีแอโพลิสกล่าวว่า หุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำและเป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. โดยขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนั้นตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน โดยหุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านสุขภาพรายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 6.5% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรที่สูงเกินคาด ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มสุขภาพในดัชนี S&P500 (S&P500 Health Care Index) ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 5.3% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 83 เซนต์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 80 เซนต์ ส่วนหุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับตัวขึ้น 0.9% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 1.82 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.65 ดอลลาร์
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จาก Conference Board