BRI คว้าใบรับรอง ISO 14064-1:2018 ตอกย้ำควบคุม-ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
BRI รับมอบประกาศนียบัตรการรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1:2018 ควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าองค์กร Net Zero ในปี 87
นายธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมากว่า 7 ปี นอกจากการพัฒนาบ้าน และการออกแบบฟังก์ชันการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์แล้ว ยังตระหนักดีว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดียั่งยืน เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมาบริษัทฯ จึงตอกย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและมุ่งมั่นในการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรมาตลอด
โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงได้ประเมินและจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 14064-1:2018 จากผู้ทวนสอบ บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยจะนำไปดำเนินการในทุกๆ โครงการ ครอบคลุมทุกทำเลทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ปัจจุบันมีทั้งหมด 38 โครงการ หลากหลายทำเล อาทิ โซนบางนา-บางพลี-บางบ่อ, โซนพระราม 9-กรุงเทพกรีฑา, โซนพระราม 5-ราชพฤกษ์-นนทบุรี, โซนสายไหม-คูคต โซนต่างจังหวัด ระยอง, ชลบุรี, อยุธยา, อุดรธานี และ ขอนแก่น เป็นต้น
“บริษัทฯ มีเป้าองค์กร Net Zero ในปี 2044 ผ่านการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การออกแบบ เลือกใช้วัสดุฉลากเขียว และการก่อสร้าง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ จนถึงปลายน้ำ อาทิ การเดินหน้าด้านการจัดการของเสีย (Waste Management) ในพื้นที่โครงการต่างๆ การจัดการขยะเศษอาหารนำมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ย (Food Waste) เพื่อลดขยะเศษอาหารภายในโครงการ รวมถึงสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ณ คลับเฮ้าส์ และติดตั้งจุดเชื่อมต่อ EV Charger เพื่อส่งต่อคุณค่าของความรู้สึกภาคภูมิใจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรักษาโลก จากการเลือกซื้อบ้านที่คำนึงถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี” นายธีรเดช กล่าว
ทั้งนี้ การได้รับรองมาตรฐาน ISO 14064-1 เป็นมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสากลจะช่วยให้องค์กรสามารถวัดและรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้ องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจะสามารถเตรียมพร้อมเพื่อการปรับใช้กฏหมายและข้อกำหนดเดียวกันทุกองค์กรจะสามารถเปรียบเทียบตนกับองค์กรอื่นที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างโอกาสในการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านการเรียนรู้จากแบบอย่างที่ดี