“พาณิชย์” ชี้ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ”ทรัมป์” ชนะ! ส่อกระทบเศรษฐกิจไทย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ หาก ”ทรัมป์” ชนะ นโยบาย American First จะกลับอีกครั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รับไทยหนีไม่พ้นส่อกระทบ
ผู้สื่อข่าวราบงานว่าวันนี้ (18 ก.ค.67 ) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะบ่งชี้ถึงทิศทางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ในด้านการเมือง สหรัฐฯ นับเป็นผู้นำประเทศโลกเสรีที่กุมทิศทางการเมืองโลก และด้านเศรษฐกิจ
โดยการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 7 – 8 ปีผ่านมา ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากการใช้ “นโยบายสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” (American First Policy) ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาตินิยม การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจ การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และการสร้างความมั่นคงของชาติ และการเริ่มทำสงครามการค้ากับจีน ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกและไทยชะลอตัว หดตัวอย่างชัดเจน
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า หากนายทรัมป์กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก
โดยเฉพาะบริษัทในสาขาอุตสาหกรรมสหรัฐที่ให้ความสำคัญที่ปัจจุบันยังตั้งอยู่ในจีน และบริษัทที่ได้ขยายย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงก่อนหน้า อาจมีบางส่วนย้ายกลับสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้า
“ไทยต้องเตรียมรับมือผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะ อย่างที่ทราบ สหรัฐฯเปิดสงครามการค้ากับจีน และจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยค่อนข้างเยอะ มีโอกาสสูงที่ไทยจะได้รับผลกระทบในแง่ โดนสหรัฐฯ มองข้าม ไม่เข้ามาลงทุนในไทย แต่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน เราจึงต้องเน้นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการแยกส่วนทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับรัฐบาล สถาบันวิจัย และองค์กรธุรกิจ ในการต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และการผลิตของไทย รวมถึงส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุน ” นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย