CMAN เร่งขยายฐาน “อินเดีย-ออสเตรเลีย” ดันขึ้นแท่นผู้ผลิตปูนไลม์ TOP 5 ของโลก!
CMAN เร่งขยายฐานผลิต “อินเดีย-ออสเตรเลีย” ดันขึ้นแท่นผู้ผลิตปูนไลม์ TOP 5 ของโลก! จับตาหลังจากนี้ผลการดำเนินงานจะเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการของในและต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 19 ก.ค.67 ) มล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” เกี่ยวกับแผนการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตปูนไลม์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ด้าน มล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ CMAN เปิดเผยว่า บริษัทใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้า จนปัจจุบัน CMAN ติดอันดับ 10 ของโลก ในด้านการเป็นผู้ผลิตปูนไลม์ โดยคู่ค้าส่วนใหญ่ของบริษัท 65% อยู่ในต่างประเทศ และอีก 35% อยู่ในประเทศ ที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้าในประเทศอินเดีย จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในรูปของการร่วมลงทุน และความร่วมมือในการสร้างโรงงานในอินเดีย บริษัทเล็งเห็นโอกาสในอินเดียมานานแล้ว เพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ และยังมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอุตสาหกรรมอีกมาก
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เคมีแมน (CMAN) ชี้ว่า ยังมองไม่เห็นโอกาสที่ธุรกิจปูนไลม์ จะหยุดชะงัก ( Disruption ) เพราะยังเป็นวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมหลากหลายอุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งวันนี้ CMAN ติด TOP 10 ของโลก และตามวิสัยทัศน์ของบอร์ดผู้บริหาร ก็ตั้งเป้าจะไปให้ถึง TOP 5 ของโลกต่อไป
“สำหรับ CMAN รายได้ส่วนใหญ่ เป็นเม็ดเงินที่ได้รับมาจากต่างประเทศ การเติบโตของ CMAN จึงไม่ได้วัดจาก GDP ภายในประเทศ แต่การเติบโต วัดตามเศรษฐกิจโลก เพราะ CMAN สร้างรากฐานทางธุรกิจ ไว้กับคู่ค้าในหลายประเทศ หากนักลงทุน ไปมองรายได้ของ CMAN ในช่วงปี 2563-2564 ไม่ปฎิเสธว่าขาดทุน แม้ว่าผลพวงจากพิษโควิด-19 ที่ทำให้หลายอุตสาหกรรม ที่พึ่งพิงปูนไลม์ ต้องหยุดการดำเนินงาน และบางแห่งปิดตัวลง แต่มาในวันนี้ กล้ายืนยันกับนักลงทุนว่า CMAN โตขึ้น อยู่ในทิศทางในเชิงบวก” นายสมศักดิ์ กล่าว
มล.จันทรจุฑา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาส 1/2567 จะเป็นช่วงทำกำไรของ CMAN เพราะเป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลสั่งวัตถุดิบจากบริษัทค่อนข้างเยอะ เพราะผู้ผลิตน้ำตาลใช้ปูนไลม์ไปกำจัดกรดที่เกิดขึ้นในการผลิต ช่วยแยกชั้น และกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกจากน้ำอ้อย และปรับให้น้ำอ้อยมีสีใสขึ้นก่อนเข้ากระบวนการผลิตเป็นน้ำตาล จึงไม่แปลกที่ในช่วงไตรมาสแรก นักลงทุนจะเห็นตัวเลข CMAN ได้กำไรสูง
ขณะเดียวกันวิธีที่จะแก้ห่วงโซ่ไตรมาสที่มีความผันผวนนั้น คือ ต้องไปขยายฐานในต่างประเทศ เชื่อมสัมพันธ์คู่ค้ากับต่างประเทศ อย่างที่ CMAN ทำอยู่ขณะนี้ เพื่อให้ความผันผวนในแต่ละไตรมาสลดน้อยลง หรืออยู่ในระดับคงที่ ตอนนี้ ลูกค้าอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ก็จะเป็น กลุ่มธุรกิจ จำพวกกระดาษและเยื่อกระดาษ ใช้ปูนไลม์เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารฟอกกระดาษและสารเติมแต่งกระดาษ และเพื่อแปรสภาพสารเคมีให้กลับมาใช้ใหม่ได้ และยังมีกลุ่มธุรกิจ แบตเตอร์รี่ เป็นต้น
ส่วนประเด็นค่าเงินบาท เมื่อคู่ค้าเป็นต่างประเทศจำนวนมาก มีวิธีบริหารจัดการอย่างไรนั้น มล.จันทรจุฑา เปิดเผยว่า จะให้บริษัทลูก ที่กระจายไปตั้งฐานผลิตในแต่ละประเทศ ให้ยืนหยัดด้วยตัวเอง ส่วนเราในฐานะบริษัทแม่ จะรอเก็บเกี่ยวเงินปันผลเป็นหลัก ยกตัวอย่างฐานผลิตที่เราเริ่มใช้วิธีนี้แล้ว คือ ประเทศออสเตรเลีย พูดง่ายๆ คือ พยายามให้บริษัทแม่ รับความเสี่ยงเรื่องค่าอัตราแลกเปลี่ยนน้อยที่สุด
“สำหรับ ปูนไลม์ของ CMAN มีคุณสมบัติที่โดดเด่น มีปริมาณแคลเซียมถึงเกินกว่า 90% ถือได้ว่ามีสิ่งเจือปนน้อยมาก คุณภาพและผลจากการใช้ปูนไลม์ที่มีสิ่งเจือปนน้อยสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่า และสร้างมูลค่าได้มากกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าชั้นนำระดับโลกหลายรายไว้วางใจและเลือกปูนไลม์ของเคมีแมน” มล.จันทรจุฑา กล่าวทิ้งท้าย