DSI เตรียมส่งรถหรู 30 คัน คืนอังกฤษ หลังถูกโจรกรรมมาขายในไทย

DSI  ส่งคืนรถหรูคืนอังกฤษ 30 คัน หลังพบว่าถูกโจรกรรมนำมาขายในประเทศไทย มูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ค. 67) ที่บริเวณโถงกลางหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.เอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายมาร์ก กุดดิง (H.E Mr. Mark Gooding) ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  รวมทั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ร่วมสอบสวนได้ร่วมกันแถลงข่าวการส่งมอบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย จำนวน 30 คัน เพื่อคืนแก่เจ้าของที่แท้จริงในประเทศอังกฤษ ผ่านการประสานความร่วมมือกับ National Crime Agency (NCA) และเร่งรัดติดตามรถยนต์อีก 5 คัน ที่ยังติดตามไม่พบส่งคืนเพิ่มเติม

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศอังกฤษ ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ทำการสืบสวนสอบสวน กรณีที่มีกลุ่มบุคคลได้โจรกรรมรถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2560 ได้มีกลุ่มผู้กระทำความผิด ซึ่งนำโดย นายอินทระศักดิ์ หรือ บอย ยูนิตี้ ร่วมกับคนไทยและคนต่างชาติ ได้ไปเช่าซื้อรถยนต์หรูจากบริษัทต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษ และมีการสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศอังกฤษว่าเป็นรถยนต์ใหม่ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อจะได้ส่งออกทางเครื่องบินจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังประเทศสิงคโปร์ และได้ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ทางเรือเข้ามาในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง มีทั้งสิ้น 35 คัน จำนวน 13 ยี่ห้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นรถที่มีราคาแพง อาทิ Porsche Lamborghini Range Rover ซึ่งมีราคารวมในประเทศอังกฤษเกือบ 3 ล้านปอนด์ หรือมากกว่า 100 ล้านบาทไทย

กระทั่งต่อมาทางการของประเทศอังกฤษโดยหน่วยงาน National Crime Agency หรือ NCA ได้สืบทราบถึงขบวนการดังกล่าวจึงได้ประสานความร่วมมือมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวและติดตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมกลับคืนประเทศอังกฤษ

ต่อมาทางคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ดำเนินคดีกับนายอินทระศักดิ์ กับพวก รวม 13 คน ในความผิด 1. ฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันรับของโจรเพื่อค้ากำไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และมาตรา 357 วรรคสอง 2. ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 268 3. ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงข้อกำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง 4. ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4) และ 5. ฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210 โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร

ดังนั้น ความสำเร็จในเรื่องนี้ เป็นการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย รวมถึง NCA  ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศที่แสดงถึงความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล

Back to top button