“ยูบีเอส” หวั่น KKP-TISCO ปล่อยสินเชื่อ “รถมือสอง”สะดุด หลังรถยึดพุ่ง

“ยูบีเอส” มองธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถมือสองของ KKP-TISCO จะยังมี NPL ที่ค้างอยู่ยังไม่สามารถ Cleanup ได้หมด และผลขาดทุนจากการยึดรถคงที่ในครึ่งหลังปีพ่วงแรงกดดันจาก EV เข้ามาทำการตลาดอย่างหนัก


บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (UBS) ระบุในบทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สินเชื่อรถมือสองที่มีต่อกลุ่มการเงินไทย โดยจากการสัมภาษณ์กับนายสุวิทย์ ชอบประดู่ รองประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว พบว่ามีตัวแทนจำหน่ายรถมือสองกว่า 1 หมื่นรายในประเทศ แต่มีเพียงราว 700 รายเท่านั้นที่อยู่ในสมาคม พร้อมกับระบุว่าธุรกรรมซื้อขายรถมือสองมีอยู่ราว 2 ล้านธุรกรรมต่อปี และมีมูลค่าเฉลี่ยราว 2 แสนบาทต่อคัน โดย 40% เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล และ 60% เป็นรถพิกอัพ

อีกทั้งให้ข้อมูลว่าอายุการใช้งานของรถใช้แล้วแบ่งได้ดังนี้ 1) น้อยกว่า 5 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด แต่ขายได้ดีที่สุด 2) 6-15 ปี มีราคาที่คงที่ และ 3) มากกว่า 15 ปี มีจำนวนที่ล้นตลาด เนื่องจาก NPL สูงขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดเพดานอัตราสินเชื่อสำหรับการให้เช่าซื้อรถยนต์

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า การยึดหลักประกันของแบงก์ที่สูงขึ้นนั้นอยู่ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ในขณะที่ราคารถมือสองสูงขึ้น แต่เริ่มการยึดหลักประกันเริ่มลดลงหลังจากที่รถ EV เริ่มหั่นราคาในครึ่งหลังปี 66  ซึ่งส่งผลให้การยึดลดของธนาคารลดลงถึง 50%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าขณะนี้ NPL จากรถใช้แล้วเริ่มที่จะคงที่ และเชื่อว่าจะเห็นราคารถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตขึ้นในครึ่งหลังปี 67

ทั้งนี้ UBS ระบุว่า บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เป็นผู้ให้สินเชื่อหลักแก่ตัวแทนจำหน่ายรถมือสองในไทย ในขณะที่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ยกเลิกบริการปล่อยสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2566 โดย TTB และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB หยุดให้สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง ส่วน TISCO เพิ่งมีการกลับมาปล่อยสินเชื่อใหม่ ในขณะที่ KKP ยังเป็นผู้ที่ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดอยู่ (มาจากสินเชื่อเก่า) แม้จะชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนแรกก็ตาม

โดยเชื่อว่า NPL ที่ทรงตัวอยู่ในขณะนี้เกิดจากการที่ธปท.กำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ แต่มองว่าหากเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ รายได้ครัวเรือนยังไม่เพิ่ม และผู้ให้สินเชื่อยังให้วงเงินสูงแก่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ จะส่งผลให้การผิดนัดชำระ และผลขาดทุนจากการยึดรถจะยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ UBS ระบุว่า TISCO และ KKP จะยังมี NPL และผลขาดทุนจากการยึดรถที่คงที่ในครึ่งหลังปี 67 แต่เชื่อว่าต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 68-69 จะอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก NPL ที่ค้างอยู่ยังไม่สามารถ Cleanup ได้หมด และยังเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจสินเชื่อ 2) แรงกดดันจาก EV ที่เข้ามาทำการตลาดอย่างหนัก ในขณะที่โรงงานที่ผลิตรถยนต์น้ำมันทยอยปิดตัวลง หรือลดการผลิตในไทย

โดยมองว่าผู้ให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถอย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC จะได้รับผลบวกจากสินเชื่อที่เติบโต และคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวในปีนี้ แต่อาจจะพบกับปัญหา NPL อีกครั้งในปี 2568

Back to top button