ทำความรู้จัก Data Center สร้างเม็ดเงินเท่าไหร่ ในการลงทุน?

ฉากทัศน์ Data Center กับ โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลาง


ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูลขององค์กร ทำหน้าที่จัดเก็บ ประมวลผล และจัดการข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาล โดยประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์เครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ทรงพลัง ระบบจัดเก็บข้อมูล โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบรักษาความปลอดภัย

ตัวอย่างบริการของศูนย์ข้อมูล (Data Center) มีตั้งแต่บริษัทฐานข้อมูลขนาดใหญ่รองรับบริการเก็บข้อมูล เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวมไปถึงระบบบริหารจัดด้านธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ บริการสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลกรณีฉุกเฉิน โดยมีผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่น Microsoft Azure ผู้ให้บริการคลาวด์จากบริษัท Microsoft และ Google Cloud Platform (GCP) ผู้ให้บริการคลาวด์จากบริษัท Google

ปัจจุบันหลายประเทศพยายามส่งเสริมการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) จากบริษัทผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ความปลอดภัยและความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศ

สำหรับ 10 อันดับ ประเทศที่มี Data Center มากที่สุดในโลก ประกอบด้วย 1. สหรัฐอเมริกา 5,381 แห่ง 2. เยอรมนี 521 แห่ง 3. สหราชอาณาจักร 514 แห่ง 4. จีน 449 แห่ง 5. แคนาดา 336 แห่ง 6. ฝรั่งเศส 315 แห่ง 7. ออสเตรเลีย 307 แห่ง 8. เนเธอแลนด์ 307 แห่ง 9. รัสเซีย 297 แห่ง  และ 10. ญี่ปุ่น 251 แห่ง

ปัจจุบัน สิงคโปร์ ถือเป็นศูนย์กลาง Data center ของอาเซียน แต่ด้วยนโยบายจำกัดการก่อสร้างศูนย์ Data center แห่ง ใหม่ของภาครัฐ ทำให้การขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่ทันต่อความต้องการใช้งาน ผู้ให้บริการ Data center ในสิงคโปร์จึงเริ่มมองหา ประเทศใกล้เคียง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย เพื่อลงทุน Data center แห่งใหม่

จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ชัดว่า ผู้ให้บริการ Data Center ก็มองประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่น่ามาตั้งฐานผลิต แต่คำถาม คือ ประเทศเราพร้อมรองรับ Data Center มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีข้อมูลว่า มูลค่าตลาด Data center ของไทยมีแนวโน้มเติบโต ราว 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2567 ในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก ตามการใช้งานเทคโนโลยีในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้ นและการใช้งานข้อมูลของผู้ บริโภคที่ยังเติบโต

โดยบริการ Public cloud ขยายตัวที่ราว 29%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังสูงขึ้นและการใช้ เทคโนโลยีที่มากขึ้นขององค์กรขนาดใหญ่ SMEs และ Startups เช่น การใช้งานระบบบริหารจัดการอัตโนมัติ และการออกเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบบริการรายเดือน (Subscription model) ซึ่งเป็นซอฟแวร์สำเร็จรูปที่จัดเก็บข้อมูลไว้บนระบบ Cloud รวมถึงปริมาณการ ใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังเติบโต สะท้อนจากปริมาณการใช้งานข้อมูลรายเดือนต่อหมายเลขผ่านโทรศัพท์มือถือของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงปี 2562-2566 จาก 10.35 GB ในไตรมาส 1/62 เป็น 33.70 GB ในไตรมาส 1/67 หรือคิดเป็น 27%CAGR

ขณะที่การให้บริการ Colocation ซึ่งเป็นบริการรับฝาก Server ที่ผู้ให้บริการจะจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดวางอุปกรณ์พร้อม โครงข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยผู้เช่าจะจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เองนั้น คาดว่าจะเติบโตราว 16%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากการเริ่มปรับใช้เทคโนโลยีในการทำงานของหลายองค์กร และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลจาก On-premise เป็นการใช้ บริการ Colocation เพื่อลดเม็ดเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา

แม้ Data center ของไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงในระยะข้างหน้า แต่นโยบายของภาครัฐ ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ยิ่งในทุกมิติของการเติบโตตั้งแต่การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การผลักดันสู่ความยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมให้โอกาสในการก้าวสู่การเป็น หนึ่งในศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนของไทยนั้น มีความเป็นไปได้มากขึ้น

หนึ่งในนโยบายที่ผู้ให้บริการ Data Center เรียกร้องให้รัฐบาล ออกนโยบายเพื่อรองรับ Data Center คือ “ นโยบายในการสร้างระบบนิเวศ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น การกำหนด นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการกำหนดให้ภาคธุรกิจในไทยจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และข้อมูลส่วน บุคคลใน Data center ที่ตั้งอยู่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการ Data center ในประเทศและดึงดูดการลงทุน จากกลุ่มธุรกิจต่างชาติที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ”

ยักษ์ไอทีระดับโลกปักหมุดลงทุน Data Center – Cloud Service

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service และเพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาคอาเซียน รัฐบาลไทยควรชู 5 จุดแข็ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้ให้บริการ Data Center โดย 5 จุดแข็งที่ไทยมีอยู่แล้ว มีดังนี้

  1. ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
  2. มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ อีกทั้งไทยมีความเป็นกลางไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
  3. โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center อีกทั้งมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน
  4. ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่าง ๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 88 ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่าร้อยละ 70 ของประชากร และประชาชน มีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น PromptPay, Mobile Banking, e-Payment
  5. สิทธิประโยชน์ที่จูงใจที่ได้จากหน่วยงาน BOI ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง เป็นต้น

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580  โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท รวมทั้ง Google และ Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลก ได้ประกาศแผนลงทุน Data Center ในประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและนายกรัฐมนตรี

ส่วนธุรกิจ Cloud Service มีบริษัทชั้นนำลงทุนกว่าหลายพันล้านบาท เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS

“เศรษฐา” อ้าแขนรับแผนลงทุน Data Center 9 แสน ลบ.ในไทย

ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในงาน AWS Summit in Bangkok” ซึ่งจัดโดย Amazon Web Services บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud Computing ว่า  ยินดีที่ AWS มีแผนลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทย มูลค่ากว่า 190,000 ล้านบาท ภายในปี 2580 โดยปีที่ผ่านมา AWS นำเงินเข้ามาในไทยแล้วกว่า 11,600 ล้านบาท พร้อมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คนไทยจะได้ใช้ AWS Thailand Region อย่างเต็มตัวในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งการลงทุนของ AWS นอกจากจะทำให้ไทยมี Cloud ที่มีความมั่นคงและปลอดภัยแล้ว ยังสะท้อนว่า บริษัท Technology ระดับโลกเห็นศักยภาพ และเชื่อมั่นว่าจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นๆ คู่ขนานไปกับการดึงดูด Data Center เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง Digital Economy และ Technology ทั้งการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรม Technology ในระดับต้นน้ำ เช่น การผลิต Semi-conductor ไปจนถึงปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรม Smart Electronics และส่งเสริมการเพิ่มทักษะของ talentปัจจุบัน AWS ให้การฝึกอบรมคนไทยไปกว่า 50,000 คน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำ AWS Academy เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร สร้าง Digital Literacy ในนิสิต นักศึกษา ถือเป็นความร่วมมือ Partnership ที่ดี ระหว่างภาคเอกชน และ ภาคการศึกษา

“การลงทุนจำนวนการลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2580 ทั้งเรื่องลงทุน Data Center และ Cloud Service  ซึ่งที่ผ่านมา AWS ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการทางด้าน Cloud และ การลงทุนในด้านการให้บริการ ส่งตรงฐานข้อมูลจากประเทศไทยไปสิงคโปร์ รวมถึงมุ่งมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์ม AI และ Cloud ในไทย เพื่อให้บุคลากรและองค์กรต่างๆ สามารถใช้บริการในประเทศไทย ได้อย่างความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฝั่งรัฐบาลไทย เราก็พร้อมสนับสนุน และ เปิดรับทุกการลงทุน” นายเศรษฐา กล่าว

Back to top button