รู้จัก PCL บิ๊กตัวแทนขาย “เครื่องมือแพทย์” ชั้นนำ! พ่วง “ศูนย์แล็บวินิจฉัยโรค” ครบวงจร

รู้จักหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ PCL ผู้นำขายอุปกรณ์การแพทย์-ศูนย์แล็บวินิจฉัยโรค” พร้อมชูจุดแข็งนวัตกรรม “ซอฟต์แวร์การแพทย์” เตรียมเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ในตลาด (SET) เข้าเทรดเดือนสิงหาคม 2567 นี้


จับตาหุ้นน้องใหม่ไอพีโออย่าง บริษัท พี ซี แอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCL ผู้ดำเนินธุรกิจ ผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรคในประเทศไทย ซึ่งมีประสบการณ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี เตรียมเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พร้อมเข้าเทรดช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นี้

ล่าสุดหัวเรือใหญ่อย่าง นายพิสิษฐ์ วรรณวิทยาภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท PCL เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีธุรกิจอยู่ 3 แกนหลักด้วยกัน คือ 1.ธุรกิจนำเข้า-ผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าทางการแพทย์ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นแกนหลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% โดยประเทศที่ PCL นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นต้น และ 2.ศูนย์แล็บทางการแพทย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% และ 3.ธุรกิจด้านระบบซอฟต์แวร์ทางการแพทย์และรายได้อื่น สัดส่วนประมาณ 5% โดยระบบดังกล่าว PCL คือผู้พัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง  ซึ่งจะใช้งานในการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการตรวจวินิจฉัยโรคและจัดส่งข้อมูลของผู้ป่วยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชน

ขณะที่ ระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวถูกใช้อยู่ในหลังบ้าน กล่าวคือ หากโรงพยาบาลนำส่งหลอดเลือดของผู้ป่วยที่ต้องการตรวจวินิจฉัยโรคเข้ามาที่ศูนย์แพทย์ของ PCL จะสามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และหากผลตรวจออกระบบจะยิงข้อมูลกับไปยังมือถือของแพทย์หรือระบบของโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ใช้ในโรงพยาบาลภายในประเทศเท่านั้น ที่ผ่านมา PCL ได้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์นี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย  ซึ่ง PCL ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่จะดูแลระบบดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเชื่อว่าระบบซอฟต์แวร์ของบริษัทถือเป็นจุดแข็งเพราะว่าอนาคตเรื่อง IT และ AI นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจด้านการแพทย์ของ PCL ยังคงเน้นให้บริการแก่โรงพยาบาลภาครัฐภายในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80%  สัดส่วนที่เหลือ 20% เป็นโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลศูนย์แพทย์ของมหาวิทยาลัย

ขณะที่ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ภายใต้ตราสินค้าของผู้ผลิต 36 ตราสินค้า ที่ผ่าน PCL ได้รับการรับรองและมีใบอนุญาตนำเข้าจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) รวมถึงการตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเครื่องมือแพทย์

สำหรับโครงการ 2 ปีข้างหน้าระหว่างปี (2567–2568) PCL วางแผนขยายธุรกิจไว้ 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.การขยายธุรกิจในการลงทุนปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และ 2.โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นสูง

นายพิสิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าปรับรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจจาก Business-to-Business หรือ B2B สู่การเน้นทำธุรกิจแบบ Business-to-Customer หรือ B2C เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทได้เรียนรู้ว่ากลุ่มประชาชนสามารถเข้าถึงบริการเกี่ยวกับแล็บตรวจสุขภาพได้โดยตรง ซึ่งช่วงนั้น PCL ได้ในบริการแก่ประชาชนจำนวนมากในการตรวจวินิจฉัยโรค โดยพบว่าประชาชนได้แนะนำให้บริษัทเปิดบริการตรวจเลือดและบริการวินิจฉัยโรคอื่นๆ   ซึ่งปัจจุบัน PCL ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินงานส่วนดังกล่าวแล้ว โดยตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนที่เข้าใช้บริการอีกด้วย

นอกจากนี้ PCL ได้คิดค้นนวัตกรรมเสริมในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีเครื่องมือและอุปกรณ์เชื่อมต่อกับท่อลมส่งหลอดเลือดความเร็วสูงแบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีระบบสายพาน ซึ่งมีการจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ PCL ยังมีเครื่องมือแขนกลอัจฉริยะสำหรับ (Lab Automation) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ ได้ภายในปี 2567 นี้

สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 4 ปี (2563 – 2566) บริษัทมีรายได้ ดังนี้ สำหรับปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 2,186.13 ล้านบาท, ต่อมาในปี 2564 รายได้รวมอยู่ที่ 3,858.98 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 อยู่ที่ 2,859.05 ล้านบาท และในปี 2566 อยู่ที่ 2,280.73 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตตามกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์อยู่แล้ว

ทั้งนี้ PCL เตรียมจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 410 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.05% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้

โดยการเสนอขาย IPO ของบริษัทมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.เพื่อใช้ลงทุนซื้อเครื่องมือวิเคราะห์โรคเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับธุรกิจผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรค และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยลงทุนในเครื่องมือวิเคราะห์โรค ได้แก่ เครื่องมือวิเคราะห์โรค เบาหวาน  ไขมันในเลือด กรดยูริค ฮอร์โมนไทรอยด์ สารบ่งชี้มะเร็ง เป็นต้น  2.ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ 3.ลงทุนขยายกิจการ

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักสำรองตามกฎหมายในแต่ละปี อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของบริษัทฯ แผนการลงทุนตามความจำเป็น ฐานะทางการเงิน สภาพคล่อง แผนการขยายธุรกิจ และความเหมาะสมอื่นๆ รวมถึงการบริหารงานของบริษัทฯ ในอนาคต

Back to top button