มองรอบด้าน “กระดานการเมืองสหรัฐฯ” ตัวเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก
มองรอบด้าน "กระดานการเมืองสหรัฐฯ” ว่าใครได้นั่งเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นตัวเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก
เกมกระดานการเมืองของสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว หลัง โจ ไบเดน ประกาศถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ผลพวงมาจากอายุมาก บวกกับมีปัญหาสุขภาพ และ ผลโพลคะแนนนิยมตามหลังโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงยังมีแรงกดดันจากในพรรค จากนายทุนของพรรค และผู้อาวุโสของพรรคไม่ให้ลงชิงตำแหน่ง เพราะ หากยังดื้อแพ่ง มีโอกาสแพ้สูง เมื่อไบเดนถอนตัว ก็ได้เวลาเปลี่ยนม้ากลางศึก ประกาศให้ กมลา แฮร์ริส วัย 59 ปี รองประธานาธิบดี เป็นแคนดิเดตที่จะลงชิงชัยแข่งกับโดนัลด์ ทรัมป์ แทน หากไปไล่ดูข้อมูลจากโพลต่าง ๆ ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า แฮร์ริส มีคะแนนสูสี กับ ทรัมป์
จุดยืนของ “กมลา แฮร์ริส” ต่อเศรษฐกิจโลก
แฮร์ริส มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องการลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่สำหรับชนชั้นแรงงาน ภาษีสำหรับผู้เช่าบ้าน และการขยายขอบเขตของ ระบบหลักประกันสุขภาพ ให้กว้างขึ้น และในขณะนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนัก รายงานตรงกันว่า “ แฮร์ริส กำลังวางแผนร่างนโยบายลดหย่อนภาษี , นโยบายกำหนดเพดานค่าเช่าหรือการผ่อนปรนหนี้ของนักศึกษา , นโยบายการดูแลเด็ก และ นโยบายพัฒนาธุรกิจดูแลผู้พิการที่บ้าน
จุดยืนของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ต่อเศรษฐกิจโลก
ทรัมป์ ประกาศตั้งแต่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ว่า ถ้าเขาได้กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี จะกลับมาพร้อมนโยบาย American First คือ ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีนโยบายกำหนดเกณฑ์ภาษีนำเข้าสินค้าใหม่ทั้งหมด โดยจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้งมากกว่า 60% และ เก็บภาษีสินค้าจากทั่วโลกเพิ่มอีก 10%
สนค. เตรียมรับมือนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ว่า สหรัฐฯ นับเป็นผู้นำประเทศโลกเสรีที่กุมทิศทางการเมืองโลก และด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มูลค่า 27.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ.2566 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.95 ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน รวมถึงยังเป็นประเทศที่มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 5 รองจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์
หากพรรคเดโมเครต ชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่หากทรัมป์ชนะ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลง การกลับมาของทรัมป์ที่น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก
“สำหรับประเทศไทยเอง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในบางสาขาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมปรับตัว ด้วยการปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ การกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก รวมถึงการปรับใช้ e-Commerce ในการส่งออกสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง ” นายพูนพงษ์ ระบุทิ้งท้าย
ทรัมป์จะทำให้ดอลลาร์อ่อนได้จริงหรือ?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ พบข้อมูลที่น่าสนใจจากบทความของ John Authers บรรณาธิการอาวุโสด้านการตลาดของ Bloomberg ระบุว่า จนถึงตอนนี้นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์แบ่งออกได้เป็น 5 ประการหลักๆ ได้แก่
1.การตั้งกำแพงภาษีศุลกากร
2.การลดอัตราดอกเบี้ย
3.ดอลลาร์อ่อน
4.ขยายการใช้จ่ายทางการคลัง
- การลดอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี Authers มองว่านโยบาย 4 ข้อแรก ไม่มีข้อใดที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในข้อ 5. ลดลงได้ โดยในแพลตฟอร์มของพรรครีพับลิกันก็แสดงให้เห็นถึงรายการมาตรการต่างๆ (A list of measures) ที่อาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อได้ ขณะที่มาตรการด้านภาษีศุลกากรและการขยายการใช้จ่ายทางการคลังก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อและผลักดันเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้นเช่นกัน
ทรัมป์ชนะ ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่า ‘มากกว่า’ แฮร์ริสชนะ ?
หากเทียบเคียงข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ รวมถึง สื่อมวลชนอาวุโส ที่วิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์การเมืองสหรัฐ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากฝั่งเดโมแครตชนะ สถานการณ์ต่างๆ อาจไม่ต่างจากการบริหารของไบเดนในปัจจุบัน หรือหากไม่มีนโยบายอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้หวือหวาขึ้น ดอลลาร์ก็จะเคลื่อนไหวตามนโยบายของ Fed เหมือนเดิม
พฤศจิกายน เดือนชี้ชะตา เศรษฐกิจโลก
ข้อมูลที่รวบรวมมา แต่ละหัวข้อ เป็นเพียงการมองผ่านแต่ละมุมมอง แต่ละข้อมูล ที่มีต่อการเมืองสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม คงจะยังด่วนสรุปไม่ได้ ว่า หากทรัมป์ กลับมา เศรษฐกิจโลกจะวุ่นวาย หรือ แฮร์ริส ชนะ เศรษฐกิจจะนิ่งเรียบ การค้าระหว่างประเทศจะเติบโต เพราะ นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเดโมแครต และ พรรครีพับลิกัน ยังไม่นิ่ง มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมของชาวอเมริกัน ผลจะออกมาอย่างไร หน้าตาของนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อนานาประเทศ จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอ เดือนพฤศจิกายนนี้ เดือนที่จะทราบผลอย่างเป็นทางการ ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะชื่อ แฮร์ริส หรือ ทรัมป์