กรมสวัสดิการฯ สั่ง “ซิโนแพค” จ่ายค่าจ้าง “แรงงาน” โครงการ CFP จำนวน 134 ล้าน ภายใน 30 วัน

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกคำสั่งให้ บ.ซิโนแพค ทยอยจ่ายเงินค่าจ้างให้แรงงานไซต์ก่อสร้าง “ไทยออยล์” ภายในวันที่ 20 ส.ค.67 หลังค้างมา 2 เดือน เป็นเงินกว่า 134 ล้านบาท หากไม่จบส่อการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดยืดเยื้อ


ผู้สื่อข่าวรายงาน (25 ก.ค.67) นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีพนักงานรวมตัวประท้วงหลายร้อยรายที่พื้นที่โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ในข้อพิพาทบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่รับเงินมาแล้วไม่จ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้รับเหมารายอื่นที่จ้างมาทำงานอีกที รวมมูลค่าที่ค้างจ่ายราว 134 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงานมา คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มีโครงการขนาดใหญ่โครงการหนึ่ง ซึ่งมีผู้รับเหมาชั้นต้นคือ กิจการร่วมค้า พีเอสอีเอแอล เอสเอสไอเอ็นจี เอสอีที (UJV) โดยเป็นบริษัทร่วมทุน 3 สัญชาติ จากเกาหลีใต้ อินเดีย และอิตาลี

โดยจากนั้น บริษัท UJV ที่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น ได้รับงานมาก็กระจายแก่ผู้รับเหมาช่วงหลายบริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ซิโนแพค เอนจิเนียริ่งกรุ๊ป (ไทยแลนด์) เป็นบริษัทสัญชาติจีน ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของลูกจ้าง 350 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชาวเวียดนาม ที่ได้ออกมาเรียกร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท ซิโนแพคฯ มีการค้างจ่ายเงินค่าจ้าง 2 เดือนในเดือนพ.ค. และ มิ.ย. เป็นเงินกว่า 134 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเงินค่าจ้างของลูกจ้างกว่า 2,000 คน ซึ่งมีหลายตำแหน่ง เงินค่าจ้างก็ต่างกันไป และส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ ค่าจ้างจึงสูง

นางโสภา กล่าวว่า เมื่อวานนี้มีการส่งตัวแทนมาคุยกัน แต่ในที่สุดก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะทางบริษัท ซิโนแพคฯ ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของลูกจ้าง ขอให้ทางบริษัท ไทยออยล์ฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างชั้นต้น เป็นผู้จ่ายเงินให้ก่อน แต่ทางบริษัท ไทยออยล์ฯ ก็ยืนยันว่าตนไม่ได้ทำผิดสัญญา และมีการจ่ายค่าจ้างครบถ้วนไปหมดแล้ว

ดังนั้น จึงขอให้ทางบริษัท ซิโนแพคฯ คุยกับลูกจ้างเอง ทำให้ข้อสรุปเบื้องต้น คือทางบริษัท ซิโนแพคฯ จะทยอยจ้างค่าจ้างให้ลูกจ้าง ภายในวันที่ 20 ส.ค.67 อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างบางส่วนที่ไม่พอใจกับผลการเจรจาเมื่อวานนี้ ก็ออกมาชุมนุมในวันนี้อีกประมาณ 100 กว่าคน

สำหรับการดำเนินงานของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้ให้ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดรับคำร้องเรียนจากลูกจ้างในกรณีดังกล่าว

ส่วนข้อมูลล่าสุดมีลูกจ้างมาร้อง 80 กว่าคน รวมเป็นเงินค่าจ้างประมาณ 3.8 ล้านบาท โดยทางสำนักงานฯ ก็จะออกคำสั่งไปยังนายจ้างนั่นก็คือ บริษัท ซิโนแพคฯ ให้ดำเนินการจ่ายเงินตามเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ บริษัท ซิโนแพคฯ ได้ตกลงกับลูกจ้างว่าจะทยอยจ่ายภายในวันที่ 20 ส.ค.67

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสวัสดิฯ จะเข้าไปสอบสวนสาเหตุเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือต้องเรียกทางบริษัท UJV ที่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นมาให้ข้อมูลหรือไม่ นางโสภา กล่าวว่า อำนาจตามกฎหมายแล้ว กรมสวัสดิฯ จะต้องเรียกนายจ้างชั้นต้นของลูกจ้างก่อน นั่นคือ บริษัท ซิโนแพคฯ แต่เชื่อว่าทางบริษัทรับช่วงก็น่าจะมีการเจรจาต่อรองกันอยู่

ส่วนการสอบสวนสาเหตุการค้างจ่ายค่าจ้าง ตามกฎหมายแล้ว กรมสวัสดิฯ จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุที่ลูกจ้างเข้ามาร้องเรียน ซึ่งกรณีนี้ลูกจ้างได้มาร้องเรียนว่า บริษัท ซิโนแพคฯ ไม่จ้างค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ดังนั้น กรมสวัสดิฯ จึงทำได้เพียงออกคำสั่งให้ บริษัท ซิโนแพคฯ ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง และถ้าไม่ดำเนินการก็จะต้องส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับกรณีที่บริษัท ซิโนแพคฯ ให้ข้อมูลว่าภายในวันที่ 20 ส.ค.67 จะเร่งทยอยจ่ายค่าจ้างนั้น กรมสวัสดิฯ สามารถเข้าไปดำเนินการอย่างไรได้หรือไม่ นางโสภา กล่าวว่า ในส่วนนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น เขาจะจ่ายอย่างไรขึ้นอยู่กับการตกลงกัน แต่หากทางคู่กรณีอยากให้กรมสวัสดิฯ เข้าไปช่วยดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม ก็สามารถทำได้

ด้าน นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ลูกจ้างจากบริษัท ซิโนแพคฯ เข้ามายื่นคำร้องกับทางสำนักงานฯ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. ประมาณ 80 คน วันนี้สำนักงานฯ ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างดำเนินการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งระบุให้บริษัท ซิโนแพคฯ พร้อมด้วย บริษัท UJV จ่ายค่าจ้างภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

อนึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยเอกสารชี้แจง กรณีมีข่าวปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนด รวมตัวประท้วงบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (SINOPEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac, Saipem, Samsung (UJV) ที่เป็นผู้รับเหมาหลักและเป็นผู้ว่าจ้าง SINOPEC ในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับบริษัทฯ ได้มารวมตัวกันเรียกร้องค่าจ้างจาก SINOPEC เนื่องจาก SINOPEC อ้างว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาที่มีกับ UJV

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น TOP ปิดตลาดวันนี้ (25 ก.ค.67) อยู่ที่ระดับ 51.00 บาท ลบ 1.25 บาท หรือ 2.39% ราคาสูงสุด 52.00 บาท หรือราคาต่ำสุด 50.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 876.93 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าโครงการ CFP จะยืดเยื้อเวลาในการก่อสร้างออกไป ส่งผลให้ TOP เสียโอกาสในการรับรู้รายได้จากโครงการนี้

Back to top button