“พาณิชย์” เปิดตัวเลขส่งออกไทยครึ่งปีแรก โต 2% นำเข้าขยายตัว 3%

“กระทรวงพาณิชย์” เปิดตัวเลขส่งออกไทยเดือนมิ.ย.ลดลง 0.3% เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูการผลไม้ ส่วน 6 เดือนแรกปีนี้โต 2% ส่วนนำเข้าขยายตัว 3% ลุ้นส่งออกเดือนก.ค.กลับมาขยายตัว พร้อมคงเป้าส่งออกทั้งปี 67 โต 1-2%


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย.67 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 218 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ทั้งนี้การส่งออกเดือนมิ.ย. ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูการผลไม้ของภาคตะวันออก รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตทุเรียนลดลง รวมถึงการพักเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาค อันเนื่องจากระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่ถูกเลื่อนออกไป

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออก มีมูลค่ารวม 145,290 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 150,532.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกของไทย ยังขาดดุลที่ 5,242.7 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2% และคาดว่า การส่งออกในเดือนก.ค. จะกลับมาขยายตัวได้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกในเดือนมิ.ย. กลับมาหดตัวเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน

สำหรับในเดือนมิ.ย.นี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่า สินค้าเกษตรกลับมาหดตัว โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,511.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2% โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,875.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.8% แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมัน-น้ำมัน จากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่าการส่งออก 19,442.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ

ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา โดยตลาดส่งออกของไทย ที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ในเดือนมิ.ย.67 ได้แก่

อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 106.9% อันดับ 2 กัมพูชา ขยายตัว 44.2% อันดับ 3 เม็กซิโก ขยายตัว 36.6% อันดับ 4 บังกลาเทศ ขยายตัว 33.0% อันดับ 5 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 22.5% อันดับ 6 อินเดีย ขยายตัว 10.1% อันดับ 7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 8.9% อันดับ 8 สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 5.4% อันดับ 9 แคนาดา ขยายตัว 5% และอันดับ 10 ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 3.5%

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 67 โดยคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1-2% โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง

โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากการส่งออกแต่ละเดือนมีมูลค่า 23,297 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 1% แต่หากสามารถทำได้เดือนละ 24,248 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 2% ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่า ก็มีส่วนช่วยหนุนการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่มุมมองจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มกำลังซื้อและความต้องการสินค้ามากขึ้น

“ส่งออกเดือนก.ค. น่าจะกลับมาบวกได้ หากไม่มีสถานการณ์อะไรที่ช็อค และภาพรวมทั้งปี ยังมองไว้ที่ 1-2% ตามเป้าหมาย…ถ้าดูจากสถิติแล้ว การส่งออกของไทยปีนี้น่าจะทำได้มากสุด แตะที่ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่เคยทำได้เกิน 10 ล้านล้านบาท” นายพูนพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่

Back to top button