SCB EIC ชี้ “ส่งออกไทย” ก.ค. พลิกฟื้น หนุนสิ้นปีขยายตัว 2.60%
SCB EIC มองส่งออกไทยเดือน ก.ค. พลิกกลับมาฟื้นตัว รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกภาคการผลิตและราคาสินค้าส่งออกมีทิศทางเติบโตดีขึ้น ลุ้นสิ้นปีส่งขยายตัว 2.60% แม้รายงานส่งออกเดือนมิ.ย. หดตัว 0.30% หลังสินค้าประเภทผลไม้ที่ส่งออกไปจีนเจอภัยแล้งกดดัน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกประจำเดือนมิถุนายน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาหดตัว 0.30% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่เคยขยายตัว 6.90% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการหดตัวในเดือนนี้เป็นผลจากปัจจัยฐานสูงเป็นสำคัญ
อีกทั้งประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปจีนหดตัวอีกครั้งหลังจากเผชิญภาวะภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยขยายตัวสูง 142.4% ในเดือนพฤษภาคม แม้จะยังมีแรงส่งจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 184.10% ก็ตาม ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกหลังหักทองคำและปัจจัยฐานหดตัวอยู่ที่ 0.40% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาลสะท้อนภาวะการส่งออกของไทยที่ใกล้เคียงเดือนก่อนในภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 145,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวดจะพบว่า 1.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 4.80% จากที่เคยขยายตัว 0.80% ในเดือนก่อน โดยผลิตภัณฑ์ประเภทไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
2.สินค้าเกษตรกลับมาหดตัว 2.20% จากเดิมที่ขยายตัวมากถึง 36.30% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออก อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่หดตัว 37.80% หลังจากที่เคยขยายตัวสูงถึง 128% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งโดยเฉพาะในตลาดประเทศจีนที่หดตัวถึง 40.20% จากที่ขยายตัวถึง 142.40% ในเดือนก่อน โดยคิดเป็นราว 90% ของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยทั้งหมด
โดยการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเป็นสินค้าสำคัญที่กดดันให้มูลค่าการส่งออกในเดือน มิถุนายน ลดลงถึง 1.40% จากการส่งออกรวมที่หดตัว 0.30% ขณะที่สินค้าประเภทข้าวและยางพาราเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัว
3.สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.30% แต่ชะลอลงจาก 4.20% ในเดือนก่อน โดยสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบนับเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ขณะที่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางนับเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว สุดท้าย 4. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลงเพียง 1.30% หลังจากขยายตัว 2.60% ในเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการส่งออกรายตลาดจะพบดังต่อไปนี้ 1.ตลาดฮ่องกงพลิกกลับมาหดตัว 15.50% หลังจากที่ขยายตัว 25.10% ในเดือนก่อน โดยสินค้าส่งออกไปฮ่องกงที่สำคัญสุด 3 ประเภทมีการหดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับที่หดตัว 14.20% โดยเฉพาะทองคำหดตัวถึง 95.60% ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัว 12.90% และแผงวงจรไฟฟ้าหดตัว 16.90%
2.ตลาดญี่ปุ่นหดตัว 12.30% รุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 1% ในเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ค่อนข้างทั่วถึงเพราะ 12 ใน 15 สินค้าที่ส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวในเดือนนี้ เป็นภาพต่อเนื่องจากที่เห็นการหดตัวทั้ง 15 สินค้าในเดือนก่อน
3.ตลาดจีนพลิกกลับมาหดตัว 12.30% หลังจากที่ขยายตัวมากถึง 31.20% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิดที่หดตัวเป็นตัวเลขสองหลัก อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งหดตัวถึง 40.20%, ส่วนเม็ดพลาสติกหดตัว 19.80% และผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 17%, 4.การส่งออกไปสหรัฐฯและอินเดียขยายตัวดีในเดือนนี้และครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต่อไปได้
5.ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 106.90% จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 1,641.70% และ 6.ตลาดประเทศ กัมพูชา, ประเทศลาว, ประเทศพม่า และประเทศเวียดนาม (CLMV) ขยายตัว 7.50% จากการส่งออกไปกัมพูชาที่ขยายตัว 44.20% โดยเฉพาะจากการส่งออกทองคำไปกัมพูชาที่ขยายตัวมากถึง 648.60% แต่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำไปกัมพูชากลับหดตัว 4.10% ขณะที่การส่งออกไปยังลาวหดตัว 0.80% และเมียนมาหดตัว 24% ซึ่งอาจเป็นผลจากความไม่สงบในประเทศเมียนมา ส่วนภาพการส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 2.60%
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 24,578.5 พลิกกลับมาขยายตัว 0.30% หลังจากหดตัว 1.60% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวดี 6.30%, สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลง 1.30%, ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว 22.20%, สินค้าเชื้อเพลิงหดตัว 3.80% และสินค้าทุนหดตัว 2% ซึ่งดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาเกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจาก 656.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม สำหรับภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุล 5,242.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้จากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 หดตัวมากถึง 10.30% ตามเศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสนักในขณะนั้นประกอบกับการส่งออกทองคำหดตัวมากถึง 53.70%
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมโลกยังเอื้อต่อการส่งออกไทยอยู่บ้างสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 แต่ข้อมูลเดือนล่าสุดทยอยปรับลดลงต่ำกว่า 50 ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งด้วยปัจจัยนี้ SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.60% โดยตัวเลขระบบดุลการชำระเงินและมุมมอง ณ มิถุนายน 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ภาคการผลิตโลก และราคาสินค้าส่งออกที่มีทิศทางเติบโตดีขึ้นกว่ามุมมองก่อนหน้านี้
สำหรับในปี 2568 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปีนี้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีเติบโตใกล้เคียงปีนี้และปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากปีนี้จากความต้องการบริโภคสินค้าภาคการผลิตที่มากขึ้น ภายใต้แรงกดดันปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการส่งออกของไทยที่ไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้เต็มที่ ตลอดจนผลการเลือกตั้งสำคัญในโลก
โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มจะทำให้คู่ค้าสำคัญของไทยมีลักษณะเป็น Protectionism และใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหา (China overcapacity) ยังเป็นความเสี่ยงและปัจจัยกดดันสำคัญที่ต้องจับตามอง เนื่องจากทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนในตลาดโลกได้ยากขึ้น ทั้งนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2567 และ 2568 ใหม่ และจะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม