ครม.ควักงบ 450 ล้าน เร่งแก้ปม “ปลาหมอคางดำ” 7 มาตรการ

ครม.ควักงบ 450 ล้านบาท พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เชื่อปัญหาเหล่านี้จะหมดไปในปี 70


ผู้สื่อข่าวรายงาน (30 ก.ค.67) ว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อที่ประชุมครม. ถึงมาตรการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยตั้งคณะทำงานมาแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ สั่งการในที่ประชุม ครม. ว่า แม้ปัญหาปลาหมอคางดำจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเป็นปัญหาที่คาราคาซังต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แต่ละรัฐบาลถือว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน จึงเป็นภารกิจที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเอาใจใส่และมีความจริงจังในการแก้ปัญหา จึงมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าที่ผ่านมาได้จัดการไปอย่างไรและจากนี้จะมีมาตรการอย่างไร

นายชัย กล่าวอีกว่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ระบุว่า ที่ผ่านมากรมประมงพยายามแก้ไข แต่เอาไม่อยู่ เพราะที่ผ่านมาขาดการบูรณาการกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ดังนั้น ในรอบนี้จึงเชิญนายกสมาคมประมง นายกสมาคมผู้เพาะพันธุ์ เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและวางแผนแก้ไขปัญหา

โดยตกผลึกเป็นมาตรการ 7 ข้อ ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งปัญหาปลาหมอคางดำจะจบสิ้นและหมดไปจริงๆ ในปี 2570 โดยจากนี้จะค่อยๆ ลดไปตามลำดับ โดยรมช.เกษตรฯ ยืนยันว่าได้ผลแน่นอน เพราะเป็นการตกผลึกระหว่างภาครัฐกับเอกชน

สำหรับ 7 มาตรการ มีดังนี้

1.จับลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งแพร่ระบาด 4,000,000 กิโลกรัม หรือ 4,000 ตันภายในกลางปี 2568

2.ส่งปลาผู้ล่าหลังลดปลาหมอคางดำ เช่น ปลากะพง

3.นำปลาหมอคางดำที่ได้ไปทำ ปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพน้ำปลาร้า ปลาป่น เพื่อให้ปลาที่จับมาไม่สูญเปล่า

4.ป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง

5.ให้ความรู้กับประชาชนในการสังเกตป้องกันอันตราย หากระบบนิเวศถูกสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามารุกราน

6.แผนระยะกลางและระยะยาวใช้เทคโนโลยีด้านการเหนียวนำโครโมโซมของปลาหมอคางดำจาก 2N เป็น 4N จะทำให้ให้เป็นหมัน เมื่อเข้าไปผสมกับธรรมชาติลูกปลาหมอคางดำที่ออกมาจะกลายเป็น 3N ทำให้ได้ปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน

7.การฟื้นฟูแหล่งน้ำที่โดนปลาหมอคางดำทำลายโดยกรมประมงจะนำสัตว์น้ำกลับคืนถิ่นเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของแหล่งน้ำนั้นตามข้อมูลที่มีการบันทึกไว้

Back to top button