BTS เปิดทาง “กทม.” เจรจาจ่ายหนี้ “สายสีเขียว” 1.1 หมื่นลบ. ยินดีหาทางออกร่วมกัน

BTS พร้อมเจรจา “กทม.” จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1-ส่วนต่อขยายที่ 2 หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้ร่วมกันชำระหนี้ O&M กับ KT จำนวน 11,755 ล้านบาท ฟาก “คีรี” ลั่นไม่มีความกังวล ยินดีหาทางออกร่วมกัน ด้าน “สายสีชมพู” แนวโน้มผู้โดยสารเติบโตดี ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองฯ ดำเนินการตามแผน คาดแล้วเสร็จกลางปี 68


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ก.ค. 67) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นำโดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ, นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และพ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ร่วมกันแถลงการณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวน 11,755 ล้านบาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

นายคีรี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบมาโดยตลอด และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมาตลอดนั้นไม่สูญเปล่า และยังเป็นการยืนยันว่า บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ซึ่งถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ตนย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เพราะบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นตนต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร ที่ตนยืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน ที่สำคัญคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป โดยในเบื้องต้นบีทีเอสได้รับทราบจากข่าวของสื่อมวลชนว่า กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีบีทีเอสก็อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่มีการเพิ่มขึ้นทุกวัน

โดยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท

2) ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565 เป็นเงินจำนวน 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

3) ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระเป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท

4) ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2585

สำหรับความกังวลในการชำระหนี้ดังกล่าวของกทม. นายคีรี กล่าวว่า ไม่มีความกังวลในส่วนนี้ โดยจะต้องมีการส่งผู้แทนไปเจรจาในส่วนของรายละเอียดว่าจะชำระอย่างไร โดยต้องให้เวลากทม. ตามระยะเวลา 180 วันตามที่ศาลปกครองสูงกำหนดอย่างไรก็ตาม บีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา บริษัทฯ ก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“รู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่เคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว” นายคีรี กล่าว

ในส่วนสัมปทานหรือส่วนไข่แดง คือช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดสัญญาในปี 2572 ซึ่งหากถึงเวลาดังกล่าวแล้วกทม. มีการพิจารณาว่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ก็สามารถดำเนินการได้ โดยผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องจ้างบีทีเอสเดินรถตลอดแนวเส้นทางอีก 13 ปี จนครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทาน

ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู แนวโน้มผู้โดยสารเติบโตได้ค่อนข้างดี ในส่วนของส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ยังดำเนินการตามแผน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 ส่วนสายสีเหลือง ปัจจุบันบริษัทฯ กำลังพิจารณาเรื่องโปรโมชั่นเพิ่มเติมอยู่ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเจรจากับพันธมิตรในการจัดทำแคมเปญต่างๆ

Back to top button