“สศอ.” เปิดดัชนี MPI มิ.ย. หดตัว 1.71% เซ่นยอดผลิตยานยนต์ลด-ต้นทุนพลังงานพุ่ง

“สศอ.” เปิดดัชนีอุตสาหกรรม MPI เดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 96.08 ลดลง 1.71% เหตุยอดผลิตยานยนต์หดตัว หลังกำลังซื้อลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยเงินกู้ พ่วงต้นทุนพลังงานพุ่งกดดัน


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (31 ก.ค.67) นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.67 อยู่ที่ระดับ 96.08 ลดลง 1.71% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.66 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนี MPI ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 11 จากตลาดภายในประเทศเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง แต่ตลาดส่งออกยังคงขยายตัวได้, ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น และการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

ทิศทางเดือน มิ.ย.ยังเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบจากการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลงเกินคาด โดยเดือนนี้มีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก” นางวรวรรณ กล่าว

ขณะที่ดัชนี MPI ในช่วงไตรมาส 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัว 0.27% แต่แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 3.58% ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.67) ดัชนี MPI เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 ลดลง 2.01%

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่ 1.ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.05% จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนสูงและสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

2.ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.08% จาก PCBA และ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งหดตัวทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์

3.จักรยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.42% ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น พร้อมปับการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อประกอบกับความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก ได้แก่ 1.น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41.90% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากมีปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น ตลาดส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าอย่างประเทศอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศ

2.ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.58๔ จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเบนซินเป็นหลัก ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชนในประเทศ

3.อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.33% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ขยายตัวจากตลาดต่างประเทศ ประกอบกับการปรับลดราคาสินค้าลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง

อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่หลายตัวที่เริ่มทำการผลิตและมีอัตราการเติบโตที่ดี เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, SSD (Solid-State Drive) , โซลาร์เซลล์ ซึ่ง สศอ. จะนำมารวมคำนวณดัชนี ในเดือน ก.ค.67 แต่เนื่องจากยังเก็บสถิติในส่วนนี้ได้ไม่ครบปีจึงต้องหารือกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำข้อมูลตัวนี้ไปใช้ว่าจะยอมรับความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี้ก่อน

เดือนหน้า สศอ.จะเอาข้อมูลอุตสาหกรรมเกิดใหม่เข้ามาคำนวณเพิ่ม ซึ่งคาดว่าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นข้อมูลที่เป็นจริง” นางวรวรรณ กล่าว

ส่วนระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ก.ค.67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังโดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมดหลังความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลงเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซาส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ส่วนปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้

นอกจากนี้กรณีที่สหรัฐฯเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25-100% เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่สินค้ากลุ่มพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า, โซลาร์เซลล์, เซมิคอนดักเตอร์, แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน, เหล็กและอลูมิเนียมบางชนิด ในวันที่ 1 ส.ค.นี้

โดยจากข่าวดังกล่าวนับเป็นโอกาสดีให้ผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทดแทนจีน โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์และหากไทยถูกเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีนจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันต้องมีการปรับสมดุลการนำเข้าสินค้าไม่ให้นำเข้าจากจีนมากจนเกินไป โดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

“น่าจะเป็นโอกาสดีให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐทดแทนจีน การเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิต ขณะเดียวกันอาจจะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามามากขึ้น ที่ผ่านมาเราใช้มาตรการเรื่องมาตรฐานคุณภาพสินค้า ไม่สามารถใช้เรื่องราคาสินค้าได้” นางวรวรรณ กล่าว

Back to top button