TOP ปัดจ่าย 567 ล้าน “แรงงานประท้วง” ชี้ไม่ใช่ผู้จ้าง-จ่ายเงิน UJV ตามสัญญาแล้ว
TOP ชี้แจงกรณี “แรงงานประท้วง” หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ ยันไม่ได้ตกลงจ่ายเงิน 567 ล้าน ให้กลุ่มผู้ประท้วง ชี้ไม่ได้เป็นผู้จ้างตามกฎหมาย พร้อมเร่งหาข้อตกลงในการประชุมระหว่าง Sinopec และ UJV นายจ้างของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2567 และอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนด กลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานชาวไทยและเวียดนาม ของ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten) บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และ บริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (Thai Fong)
โดยทั้ง 3 บริษัทเป็นนายจ้างและเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (Petrofac), Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับ บริษัทฯ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างจากนายจ้างทั้ง 3 บริษัท (One Turn Ten, EMCO, Thai Fong) รวมถึง Sinopec และ UJV ด้วย โดยทั้ง 3 บริษัทไม่ได้รับค่าจ้างจาก Sinopec และทาง Sinopec เองก็ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างช่วงจาก UJV ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมารายย่อยต่างๆ รวมถึง 3 บริษัทข้างต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของผู้รับเหมาช่วง และผู้แทน UJV มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในการเยียวยากลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้รับเหมาช่วงโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากที่มีการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 และตามที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ ว่า บริษัทฯ ได้เข้าร่วมเจรจาในการประชุมระหว่าง Sinopec และ UJV นายจ้างของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนจากภาครัฐ และ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยบริษัทฯ ตกลงที่จะเตรียมนำเงิน 567 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ภายในเดือนสิงหาคมนั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า บริษัทฯ มิได้ตกลงที่จะเตรียมนำเงิน 567 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานตามข่าวที่ได้มีการเผยแพร่แต่อย่างใด
เนื่องจากการนัดรวมตัวชุมนุมเกิดจากการที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาช่วงและ UJV ตามกำหนด ซึ่งหน้าที่ตามกฎหมายในการจ่ายค่าจ้างค้างชำระและดำเนินการเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับไปทำงานได้ตามปกติเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาช่วงรายที่เกี่ยวข้องและ UJV นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ UJV ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการดูแลและมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของโรงกลั่นไทยออยล์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำแผนฉุกเฉินและการส่งกำลังพลเพื่อเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมการเข้า – ออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าการรวมตัวชุมนุมจะยังคงเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ