CPF หนุนแก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ยันไม่เคยเป็นผู้นำเข้า
หมอวาโย ร้องเอาผิด หน่วยงานราชการ – บริษัทเอกชน ด้าน CPF เสียงแข็ง ไม่เคยนำเข้าปลาหมอคางดำ พร้อมให้ความร่วมมือ กำจัด ปลาหมอคางดำ - ฝาก กมธ. เร่งสอบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 1 ส.ค.67 ) นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ.ว่า ข้อสรุปที่ได้มีการหารือกันในที่ประชุมเกี่ยวกับการฟ้องร้องในคดีต่างๆ แบ่งได้เป็น คดีอาญา คดีแพ่ง และ คดีการปกครอง ซึ่งคดีการปกครองมีบางภาคส่วนได้ดำเนินคดีกับกรมประมงไปแล้ว
โดยวันนี้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ได้เปรียบเทียบตัวกฎหมายในปี พ.ศ. 2490 ที่ใช้บังคับในปี พ.ศ.2553- พ.ศ.2554 และกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง ที่ใช้บังคับในปี พ.ศ. 2558 โดยในมาตรา 36 พ.ร.ก.ประมง ระบุว่า หากอนุญาตไปแล้วไม่ทำตามเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ใบอนุญาตนั้นเป็นคนละส่วนกันกับใบที่เขียนเงื่อนไขในการนำเข้าปลาหมอคางดำ
นพ.วาโย กล่าวเพิ่มเติม ว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ถ้ากระดาษอยู่คนละแผ่นแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อหาเหมือนกัน ต้องพิจารณาร่วมกัน จึงเกิดประเด็นว่ากรมประมงได้ปฏิบัติตามมาตรา 36 ตาม พ.ร.ก.ประมง 2490 หรือไม่ ในเรื่องที่บริษัทเอกชนไม่ได้เก็บครีบและส่งขวดโหลปลาคืนให้กับกรมประมง อาจต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ ต่อไป เพราะ ไม่แน่ใจว่าในเงื่อนไขได้กำหนดเวลาไว้หรือไม่
ขณะที่ทางด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ในฐานะประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ยืนยันว่า จะสนับสนุนดึงปลาหมอคางดำออกจากระบบให้เร็วที่สุด ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม รวมถึงสนับสนุนซื้อปลาอีก 2 แสนตัว ในการช่วยกำจัดให้เร็วขึ้น ขอย้ำว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจากซีพีเอฟ ส่วนเกิดจากอะไรนั้น คงต้องให้คณะกรรมาธิการ ไปสอบถามกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
“ซีพีเอฟ การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในฟาร์มที่เป็นระบบ มีมาตรฐานสูง เรายืนยัน ไปกับทางกรมประมงแล้ว” นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย