รู้จัก “แฟคเตอริ่ง” ฮีโร่สำคัญดัน SME เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น!

“แฟคเตอริ่ง” ธุรกิจให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น สนับสนุนผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันพบรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต่ำกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมด


นายอัครวิทย์ สุกใส นายกสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง (TFA) เปิดเผยว่า สมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง พัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจ รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟคตอริ่ง และปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

สำหรับธุรกิจแฟคตอริ่ง คือการให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน รูปแบบการให้บริการ-โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินหนี้ทางการค้าจากลูกหนี้การค้าของผู้ประกอบการ โดยข้อดีของแฟคเตอริ่งคืออนุมัติเร็ว ง่าย วงเงินตามคามต้องการซื้อขายจริง เพิ่มสภาพคล่องและการเติบโตในธุรกิจ และคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาจริง

ทั้งนี้ ยังมีแฟคตอริ่งระหว่างประเทศเป็นบริการทางการเงินที่ช่วยให้ธุรกิจจัดการกระแสเงินสดโดยการขายบัญชีลูกหนี้ (ใบแจ้งหนี้) ให้กับบุคคลที่สาม โดยมีส่วนลด โดยเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ เช่น ผู้ขายอยู่ในประเทศไทย และผู้ซื้ออยู่ที่ต่างประเทศ

นายอัครวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยพบว่าปัจจุบัน SME ในประเทศมีประมาณ 3 ล้านราย แต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นหากทางภาครัฐเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันในการนำสินเชื่อแฟคตอริ่งไปช่วยผู้ประกอบการที่ยังเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ จะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจนี้ นอกจากนี้การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ที่ธุรกิจแฟคตอริ่งไม่ได้มีราคาที่สูงมาก เนื่องจากเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่แท้จริง

ด้านดอกเบี้ยของแฟคเตอริ่งเริ่มต้นที่ MRR+ ซึ่งเป็นความต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกชาร์จ โดยสินเชื่อของแฟคเตอรี่เป็นสินเชื่อที่มุ่งเน้นสำหรับ ธุรกิจเท่านั้น

ขณะที่การป้องกันการเกิดหนี้เสีย (NPL) จะอยู่ที่นโยบายของแต่ละองค์กร แต่เชื่อว่าแต่ละสถาบันทางการเงินจะมีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ หรือการวัดความสามารถในการจ่ายหนี้ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า แต่ในส่วนของแฟคเตอริ่งจะเน้นเครดิตของผู้ซื้อ ซึ่งมักจะเป็นรายใหญ่กว่าผู้ขาย

“สำหรับประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตคาดหวังว่าอาจจะได้รับอานิสงค์เชิงบวก จากการกระตุ้นจากทางภาครัฐ เริ่มจากการผลิตและสต็อกสินค้าของผู้ประกอบการ และลำดับถัดมาคือการส่งมอบสินค้า ซึ่งจะเจอกับภาวะเครดิตเทอม และสามารถใช้บริการแฟคเตอริ่งได้” นายอัครวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button