ดักเก็บ 10 หุ้น “บลูชิพ” ราคาต่ำบุ๊ก-พีอีต่ำ ลุ้นเด้งแรง! ติดโผ “แบงก์-พลังงาน”
เปิดรายชื่อ 10 หุ้น “บลูชิพ” ราคาต่ำบุ๊ก-พีอีต่ำ 15 เท่า ลุ้นเด้งแรง! ชู BCP,TOP,BBL,KTB,KBANK,SCB,TLI,PTT,TTB
ภาวะตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันอ่อนตัวลงต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากดัชนี SET ปรับตัวลงกว่า 100 จุด จากระดับ 1,433.38 จุด(2 ม.ค.67) และลงมาอยู่ที่ระดับ 1,296.25 จุด(8 ส.ค.67) หรือลดลง 9.56% และหลุดระดับ 1300 จุด หลายครั้งในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลภาวะสงครามในตะวันออกกลางยดเยื้อ และสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีนกดดัน อีกทั้งกังวลทิศทางดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ และงบประมาณปี 67-68 ที่เบิกจ่ายล่าช้า
อีกทั้งในช่วงนี้นักลงทุนรอศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยนายกฯในวันที่ 14 ส.ค. และนักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในเดือนก.ย. เนื่องจากคาดหวังว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้ โดยจากข้อมูลล่าสุด FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 86% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชั้นนำของไทยมองว่าหากการเมืองในสัปดาห์หน้าชัดเจนและออกมาในทิศทางที่ดี บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2567 โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิตอล 1 หมื่นบาทคาดจะมีผลในช่วงพ.ย.67 และเฟดมีการปรับลดดอกเบี้ยตามที่คาดการณ์ คาดว่าตลาดจะตอบรับปัจจัยดังกล่าวและคาดว่า Fund Flow จะเข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50 มานำเสนอเพื่อให้เห็นทิศทางและโอกาสเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งเข้าพอร์ตหลังช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัวลงแรงเกินพื้นฐาน โดยเป็นการคัดเลือกจากราคาหุ้นต่ำบุ๊ก หรือ มูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น และ P/BV ไม่เกิน 1 เท่า อีกทั้ง P/E ต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ณ วันที่ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 16.68 เท่า โดยกลุ่มหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวคัดเลือกมา 10 ตัวประกอบด้วย BCP, TOP, BBL, KTB, KBANK, SCB, TLI, PTT, TTB ดังตารางประกอบ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP พบว่าค่า P/E อยู่ที่ 3.57 เท่า, ค่า P/BV อยู่ที่ 0.61 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น ณ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 33.50 บาท โดยต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีอยู่ที่ระดับ 54.86 บาท
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีกำไร 1,823.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 298.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 158,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เทียบไตรมาสก่อน และมากกว่า 100% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2567 บางจากฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 293,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น EBITDA รวม 26,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 4,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.91 บาท
ทั้งนี้ จากการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจผ่านการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพสูง และการสร้าง Synergy ระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัทบางจาก ส่งผลให้รับรู้ Synergy จากผลการดำเนินงานต่อเนื่อง มียอดสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2567 บรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท ในปี 2567 แล้ว ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy 3,000 ล้านบาทต่อปี ในปีต่อ ๆ ไป
โดยช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าค่าการกลั่นมีแนวโน้มเข้าสู่ระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จากอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะบริหารจัดการอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างรากฐานที่มีเสถียรภาพและมั่นคงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP พบว่าค่า P/E อยู่ที่ 5.27 เท่า, ค่า P/BV อยู่ที่ 0.64 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น ณ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 49.00 บาท โดยต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีอยู่ที่ระดับ 76.45 บาท
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 บริษัทมีรายได้จากการขาย 119,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,172 ล้านบาท เมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 5,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 396% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขาย 233,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,467 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 11,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยไตรมาส 2/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกําไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 3.1 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ขณะที่รอบ 6 เดือนของปีนี้ กลุ่มไทยออยล์มีกําไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 8.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ช่วง 6 เดือนของปีนี้ยังมีผลกําไรจากสต๊อกนํ้ามัน 1,477 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนจากสต๊อกนํ้ามัน 5,268 ล้านบาท ใน 6 เดือนของปี 2566 และมีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือนํ้ามันดิบและนํ้ามันสําเร็จรูป 89 ล้านบาท ลดลง 104 ล้านบาท จาก 6 เดือนแรกปี 2566 เมื่อรวมกําไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 307 ล้านบาท (รวมเฉพาะรายการที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์) ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA 19,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,022 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงิน 333 ล้านบาท และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 1,106 ล้านบาท และมีกําไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้ 1,163 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในช่วงครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ทั้งในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ การเดินทางทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อน ทั้งนี้ค่าการกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปี
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL พบว่าค่า P/E อยู่ที่5.95 เท่า, ค่า P/BV อยู่ที่ 0.45 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น ณ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 131.00 บาท โดยต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีอยู่ที่ระดับ 291.05 บาท
โดย BBL รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/67 มีกำไรสุทธิ 11,806.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11,293.52 ล้านบาท และงวดครึ่งแรกของปี 67 มีกำไรสุทธิ 22,330.48 ล้านบาท โต4.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2111,293.52 ล้านบาท
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB พบว่าค่า P/E อยู่ที่ 6.54 เท่า, ค่า P/BV อยู่ที่ 0.59 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น ณ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 17.60 บาท โดยต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีอยู่ที่ระดับ 29.85 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ถึงผลประกอบการไตรมาส 2/67 ของ KTB ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 5% และฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8% โดยกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่เนื่องจากมีกำไรจากเงินลงทุน (FVTPL) เข้ามาช่วยสนับสนุนจำนวน 1.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ มากกว่าที่ฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1.0 พันล้านบาท ประกอบกับมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มากกว่าคาดการณ์มาอยู่ที่ 3.41% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.37% จากการรุกธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น
ขณะที่สินเชื่อรวมมีการปรับตัวลดลง 0.6% เนื่องจากสินเชื่อรายใหญ่และธุรกิจ SME ลดลง ขณะที่สินเชื่อภาครัฐเพิ่มขึ้นได้ดีถึง 6% ซึ่งมองว่าเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำและรองรับกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องมีการตั้งสำรองฯ
ทั้งนี้ KTB ยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิตามคาดการณ์อยู่ที่ 5.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ลดลง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากธุรกิจกองทุนรวมและธุรกิจบัตรเครดิตที่เติบโตได้ดี ส่วนการสำรองฯกลับมาตั้งอยู่ที่ระดับปกติตามคาดการณ์อยู่ที่ 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่หนี้เสีย (NPL) มีการปรับตัวลดลงได้ดีมาอยู่ที่ 3.12% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.14% โดยมีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (write-off) อีกราว 7.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท ขณะที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Coverage ratio) ลดลงเล็กน้อย โดยยังอยู่ในระดับสูงที่ 181% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 182% ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ได้ปรับคำแนะนำขึ้น “ซื้อ” จากเดิมที่ให้ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 21.00 บาท
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK พบว่าค่า P/E อยู่ที่ 6.74 เท่า, ค่า P/BV อยู่ที่ 0.56 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น ณ 8 ส.ค.67 อยู่ที่ 128.50 บาท โดยต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีอยู่ที่ระดับ 2.31.38 บาท
โดย KBANK รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/67 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,652.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.09% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 10,994.27 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง
ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 67 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 26,138.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.26% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 21,735.33 ล้านบาท
ด้านบล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 67 ของ KBANK คิดเป็น 58% จากประมาณการทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจาก FVTPL ซึ่งประมาณการค่อนข้างยาก ส่งผลให้ทางฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากสำรองฯ ที่ลดลงเป็นหลัก
ขณะที่คาดการณ์กำไรไตรมาส 3/67 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากสำรองฯที่ลดลง แต่มีโอกาสลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เพราะฐานกำไรจากเงินลงทุนที่สูงในไตรมาสก่อนและ NIM ลดลง โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” KBANK ในราคาเป้าหมายที่ 155.00 บาท