THAI จ่อยื่นไฟลิ่งเพิ่มทุน ก.ย.นี้! ตั้งเป้าออกจากแผน “ฟื้นฟูกิจการ” ไตรมาส 2/68

THAI จ่อยื่นไฟลิ่งเพิ่มทุนต่อ “ก.ล.ต” เดือน ก.ย.นี้ หวังออกจากการแผน “ฟื้นฟูกิจการ” ไตรมาส 2/68 มั่นใจผลงานครึ่งปีหลังสดใส รับอานิสงส์ “ไฮซีซั่น” คาดปีนี้ผู้โดยสาร แตะ 15 ล้านคน ดันรายได้โตตามเป้า 1.8 แสนล้านบาท


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 314 ล้านบาท ลดลง 86.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท สาเหตุบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์

ขณะที่ไตรมาส 2/2567 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.30% จากไตรมาส 1/2567 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 ซึ่งนับเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้กลับมาทำการบินสู่เมือง มิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทาง รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับ สายการบินคูเวตแอร์เวย์ส ในรูปแบบเที่ยวบินรหัสร่วม (Codeshare) เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ใน ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และ ยุโรป ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 อยู่ที่จำนวน 3.81 ล้านคน และบริษัทตั้งเป้าหมายมีผู้โดยสารเข้าใช้บริการสิ้นปี 2567 แตะ 15 ล้านคน

สำหรับงวด 6 เดือนแรกบริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14% และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 72,935 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.30%

ส่วนมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอยู่ที่ 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.30% ทั้งนี้ มีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 9,403 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท

โดยส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 14,795 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท โดยมี EBITDA สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้  ส่วนกำไรสุทธิต่ำกว่างบประมาณเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงดำเนินการเพิ่มฝูงบิน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินจำนวน 77 ลำ และภายในสิ้นปีจะเพิ่มขึ้น แตะ 79 ลำ ทั้งนี้ เครื่องบินที่เพิ่มมาใหม่ในช่วงนี้จะเป็นเครื่องบินมือสอง เนื่องจากการหาเครื่องบินใหม่ในตอนนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ยาก อย่างไรก็ตามอนาคตบริษัทวางแผนเพิ่มฝูงบินใหม่คาดการณ์จะทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี 2570-2576

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า หากพูดถึงแผนเพิ่มทุนเพื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผ่านการแปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 เป็นทุน โดยคาดว่ายื่นแบบ Filing ต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในเดือนกันยายน 2567 และกระบวนการใช้สิทธิคาดว่าจะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 พร้อมกับกระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงระยะเวลาในการพิจารณาให้หนังสือชี้ชวนมีผลบังคับใช้ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.)

“การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนทิศทางและแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทคาดการณ์ว่าไตรมาส 3/2567 เป็นต้นไป มีความมั่นใจจะเติบโตดีกว่า 2/2567 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนฤดูการที่ชาวต่างชาติท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น อาทิ ยุโรป โดยเฉพาะเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม นับว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากมองไปไตรมาส 4/2567 มั่นใจว่าจะเติบโตได้ดีจากการเข้าสู่ช่วง High season บวกกับการที่บริษัทมีฝูงบินเพิ่มขึ้นเป็นตัวสนับสนุน ส่วนเป้าหมายรายได้ปี 2567 บริษัทความการณ์ว่าจะยังคงเป็นไปตามแผนที่ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเข้าใช้บริการประมาณ 15 ล้านคนในปีนี้ อย่างที่เคยกล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ หากพูดถึงการประมูลโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือ MRO ในพื้นที่ EEC อู่ตะเภา บริษัทมีความพร้อมในการร่วมลงทุนหากมีการเริ่มประมูลในช่วงนี้ เนื่องจากเดิมทีบริษัทเคยมีศูนย์ซ่อมทั้งที่อู่ตะเภา ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ขณะที่การลงทุนในโครงการนี้ไม่ได้ลงเพียงครั้งเดียว แต่จะเป็นรูปแบบของการลงทุนเฟส ๆ จึงไม่มีปัญหาเรื่องเงินที่จะใช้ในการลงทุน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาได้หารือถึงแผนร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่างๆ ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าการลงทุนศูนย์ซ่องแซ่มนั้นถือว่าจำเป็นในอนาคตต่อการบินไทย ซึ่งมีแผนเพิ่มฝูงบินขึ้นประมาณ 140-150 ลำใน 10 ปีข้างหน้า การมีศูนย์ซ่อมจึงจำเป็นต่อบริษัทถ้าหากไม่มีคงแปลก เนื่องจากหากเกิดปัญหาต้องส่งเครื่องไปซ่อมที่ต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีอัตราเงินไหลออกนอกประเทศนั่นเอง

Back to top button