“ภากร” เชื่อ “วายุภักษ์ 1” ดึงนักลงทุน “รายย่อย-กองทุน” กลับตลาดหุ้น-การันตียีลด์ขั้นต่ำ!
จับตาการเสนอขายหน่วยลงทุน “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ช่วง ก.ย.นี้ ฟาก “ภากร” หวังช่วยดึงรายย่อย-นักลงทุนสถาบันกลับเข้าตลาดหุ้น เสริมความเชื่อมั่น ชูมีการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ-เพิ่มทางเลือกการออมให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ส.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกับ ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกันแถลงข่าวการเดินหน้าเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” มูลค่ารวมประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท
โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มเสนอขายได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เป็นผู้จัดการกองทุน
ด้าน นายพิชัย เปิดเผยว่า หน่วยลงทุนดังกล่าวจะเปิดขายให้แก่นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน เพื่อดึงสัดส่วนการลงทุนให้ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย โดยกองทุนดังกล่าวมีความน่าสนใจในเรื่องการคุ้มครองที่ดีกว่าหน่วยลงทุนประเภท ข. พร้อมกันนี้ยังมีการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ รวมถึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติม หากพอร์ตลงทุนมีการเติบโตที่ดี แต่อย่างไรก็ดี รายละเอียดเรื่องความคุ้มครองและเกณฑ์การันตีผลตอบแทนขั้นต่ำจะอยู่ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้
สำหรับการลงทุนของกองทุนจะเน้นบริษัทที่มีผลตอบแทนดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้คาดการณ์ว่าการระดมทุนของกองทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มทางในเลือกการออมและการลงทุนให้กับประชาชนและนักลงทุนทั่วไปในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้าน นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า ด้วยนโยบายของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในการเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยและต่างชาติ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น
อนึ่งการเสนอขายหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้แก่นักลงทุนทั่วไป เช่น รายย่อย, สถาบัน, ภาครัฐ, สหกรณ์, มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ มูลค่าเสนอขายหน่วยลงทุนประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 10 ปี โดยกองทุนอาจพิจารณาขยายระยะเวลาการลงทุนของหน่วยเมื่อครบกำหนด
ด้านผลตอบแทนของหน่วยลงทุน ประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนชั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยมีกรอบแนวทางในการกำหนดอัตรา ผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ดังนี้
1) อัตราผลตอบแทนชั้นต่ำต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีการปรับปรุงส่วนต่างตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนชั้นต่ำต่อปี
2) อัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตราสารทุนและมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นต้น
ส่วนการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. การคุ้มครองเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนฯ จะบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดลัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio) โดยในกรณีที่ Asset Coverage Ratio ลดลงเกินกว่าสัตส่วนขั้นต่ำที่กองทุนฯ กำหนด กองทุนฯ จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเงินลงทุนขอผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนหรือได้รับเงินปันผล หาก NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ข. ต่ำกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับ ฯ ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ต่อไป
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับในการเสนอขายหน่วยลงทุนนี้ คือการเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลโกในการคุ้มครองผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท.
ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน