ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์เงินกองทุน “บริษัทหลักทรัพย์” ป้องความเสี่ยงเชิงระบบ มีผลพรุ่งนี้
ก.ล.ต. ปรับหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้เหมาะสม ช่วยคุ้มครองผู้ลงทุน ป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ มีผลบังคับใช้ 16 ส.ค.67
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) รวมทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและไม่สร้างภาระเกินจำเป็นแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวแล้ว ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นโดยไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้เป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่เกินดังกล่าวไม่ให้เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
รวมทั้งปรับปรุงนิยามของหนี้สินด้อยสิทธิโดยให้มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเลื่อนการจ่ายเงินต้น และยกเลิกหรือเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใด เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจตามที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีบทเฉพาะกาลให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากหนี้สินด้อยสิทธิตามนิยามเดิมในส่วนที่ไม่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี สำหรับหนี้สินที่รับรู้รายการก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
2.ปรับปรุงรายชื่อประเทศและดัชนีหลักของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าความเสี่ยงด้าน position risk** ของหุ้นต่างประเทศให้เป็นปัจจุบัน
3.ปรับปรุงนิยามหนี้สินพิเศษโดยให้รวมถึงหนี้สินรายการอื่นๆ เช่น หนี้สินจากการค้างจ่ายเงินค่าขายหลักทรัพย์คืนให้แก่ลูกค้า เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานของรัฐให้อายัดเงินดังกล่าว และหนี้สินจากการรับฝากหรือเป็นตัวแทนรับฝากทรัพย์สินจากการประกอบธุรกิจอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการแยกทรัพย์สินที่รับฝากดังกล่าวออกจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการดำรงเงินกองทุนในส่วนที่เกินจำเป็นได้ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป