STPI ลั่นมาร์เก็ตแคปทะลุ 2.5 หมื่นลบ. ภายใน 3 ปี ลุย “มอนสูน” เฟสสอง 1 พันเมกฯ

STPI ประกาศศักดากลับมายิ่งใหญ่ ลั่นดันมาร์เก็ตแคปกลับไปยืนเหนือ 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี หลังปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เดินหน้าลงนาม “มอนสูน” เฟสสอง 1,000 MW ปลายปีนี้ เร่งหาพันธมิตรลุยดาต้าเซ็นเตอร์ ผุดโซลาร์ฟาร์มป้อนกระแสไฟฟ้าสะอาด เดินหน้าธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปเต็มสูบ พร้อมเตรียมสปินออฟ STCP เข้าตลาดหุ้นไทย


นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ผู้บริหารของบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มมาร์เก็ตแคปของ STPI ให้กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนหน้านี้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 5 พันล้านบาท ภายหลังจากการปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่

“อีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจเหล็กจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 17,000 ล้านบาท, ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท, รายได้จากโครงการลมมอนสูน เฟสหนึ่ง รายได้ปีละ 4,000 ล้านบาท (กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น) ดังนั้นอยากเห็น Market Cap ของ STPI จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จากเดิมเคยขึ้นไปอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าล้านบาท เทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท” นายชำนิ กล่าว

ทั้งนี้ STPI มีแผนที่จะเข้าถือหุ้นโครงการมอนสูน เฟสสอง ในสัดส่วนที่มากกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน (Monsoon I) เฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ที่ถืออยู่ประมาณ 16% ซึ่งโครงการใหม่อาจจะสูงถึงประมาณ 30% ทั้งนี้ก็ยังต้องการเจรจากับผู้ถือหุ้นเดิมด้วย แต่ทางบริษัทมั่นใจว่าจะได้มากกว่าเดิม

สำหรับโครงการมอนสูน เฟสสอง ปัจจุบันรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เดิมคาดว่าจะได้ในไตรมาส 3/2567 แต่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในประเทศเวียดนาม ทำให้เลื่อน PPA ไปเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ขณะนี้จึงยังอยู่ระหว่างการรอความชัดเจน

ด้านการเพิ่มทุนที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ บริษัทไม่ได้นำเงินไปชำระค่าหุ้น แต่จะนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและศึกษาธุรกิจใหม่ ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน เป็นการทยอยลงทุน โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน

ปัจจุบัน STPI ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน (MONSOON) เฟสหนึ่ง ขนาด 600 เมกะวัตต์ ของบริษัท Monsoon Wind Power Company Limited (MWPCL) ที่สปป.ลาว บนเนื้อที่ 4 แสนไร่ โดย STPI ถือหุ้นโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 15.87% คาดว่าจะ COD ไม่เกินกลางปี 2568 ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) 25 ปี ผ่านสายส่งขนาด 500 เควี จากสปป.ลาวไปยังเวียดนาม โดยสายส่งดังกล่าวทางรัฐบาลเวียดนามเป็นผู้ลงทุน โดยโครงการมอนสูนต้องติดตั้งกังหันลมทั้งสิ้น 133 ต้น ล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ติดตั้งแล้ว 88 ต้น ดังนั้นคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ทันทีหลัง COD ตามแผน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการมอนสูนเฟสสองมีโอกาสที่จะขายไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีอยู่ รวมกับพลังงานอื่น ๆ ไปยังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีความต้องการพลังงานสะอาดอีก 4,000 เมกะวัตต์ ในราคาที่สูง ทั้งนี้การติดตั้งกังหันลมในโครงการมอนสูนเฟสสอง จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5.5 เมกะวัตต์ต่อต้น เทียบกับเฟสแรกอยู่ที่ 4 เมกะวัตต์ต่อต้น

นายชำนิ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีที่ดิน 3 แปลง เป็นที่ดินรอการพัฒนาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 37 ไร่ โดยบริษัทมีแผนที่จะขายและ/หรือพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น ที่ดินบางนา-ตราด กม.19 จ.สมุทรปราการ (เขตผังเมืองสีม่วง) 9 ไร่ มูลค่าตลาด 250 ล้านบาท, ที่ดินบางนา-ตราด กม.22 จ.สมุทรปราการ (เขตผังเมืองสีม่วง) 27 ไร่ มูลค่าตลาด 300 ล้านบาท และบริษัทมีที่ดิน Land Bank ขนาดใหญ่ติดมอเตอร์เวย์ รอการพัฒนาที่มีศักยภาพใกล้ EEC รองรับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื้อที่รวม 932 ไร่ ราคาทุน 319 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีแผนนำที่ดินที่ อ.สัตหีบ มาพัฒนาโครงการ Green Data Center ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม ทำให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าในราคาที่จูงใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับ User ระดับโลกตัวจริง เกี่ยวกับข้อตกลงด้านสัญญา และราคาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นบริษัทมีแผนก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 188 เมกะวัตต์ และแบตเตอรี่ Maximum Capacity 20 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับลูกค้าดาต้าเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินขนาด 200 เมกะวัตต์ จากโครงการ Monsoon Expansion เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้ากลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ รวมทั้งจะมีแบตเตอรี่ Maximum Capacity อีก 133 เมกะวัตต์ เพราะที่ผ่านมา บริษัทได้คุยกับลูกค้าสปป.ลาว พบว่าลูกค้ากลุ่มนี้อยากให้ทำก่อน เพราะวิ่งตรงไปดานัง ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกมาก โดยจะใช้ประโยชน์จากสายส่ง 500 เควี ของโครงการมอนสูน ในการเชื่อม Fiber Optic จากลาวสู่ดานัง (เวียดนาม)

โดยบริษัทมีแผนปรับโครงสร้างกลุ่มกิจการ โดยการโอนบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานอยู่ภายใต้บริษัท เอสทีคลีนพลาเน็ต จำกัด (STCP) เพื่อวัตถุประสงค์การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Spin-Off) ซึ่งจะรวบธุรกิจพลังงานทั้งในกลุ่มไปอยู่ใน STCP ทั้งโซลาร์รูฟท็อปและพลังงานลม ปัจจุบันรายได้ของ STCP เข้าเกณฑ์ SET คาดว่าจะสามารถยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2570

สำหรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทภายหลังการ Spin-Off ภายใต้บริษัท STCP ได้แก่ ISGT มี BV 2,050 ล้านบาท (ถือหุ้น 100%, STCPA เป็น Holding Co. (ถือหุ้น 100%) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการมอนสูนเฟส 1 มี BV 1,591 ล้านบาท และโครงการ Monsoon Expansion มี BV 2,535 ล้านบาท และ SinoPower มี BV 42 ล้านบาท (ถือหุ้น 60%)

โดย STPI ขยายการลงทุนด้านธุรกิจพลังงานมากขึ้น โดยลงทุนผ่านบริษัท ซิโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท พาวเวอร์วอลท์ (ประเทศไทย) จำกัด (PV) ในสัดส่วน STPI ถือ 60% และ PV ถือ 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน โดยเน้นด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ปัจจุบันซิโนพาวเวอร์ มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้วรวม 140 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 80 เมกะวัตต์

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อ 13 มิถุนายน 2567 มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้น บริษัท อิมแพคท์ โซลาร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (ISGT) จากบริษัท อิมแพค โซลาร์ จำกัด (ISG) จำนวน 146,691,104 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 100% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน ในมูลค่า 2,050 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.9749 บาทต่อหุ้น

ด้านธุรกิจรื้อถอนแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย มีงานจากเชฟรอน โดยได้มีการรื้อถอนไปแล้วกว่า 50 แท่น ยังเหลือการรื้อถอนอีก 18 แท่น คาดว่าจะเสร็จในช่วงกลางปีหน้า และคาดว่าปีหน้าจะมีงานเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้งานรื้อถอนแท่นขุดเจาะในตลาดมี 535 แท่น มูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท

ขณะที่ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 25 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิ 242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 97 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 ส.ค. 2567) บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ได้จัดให้นักลงทุน รวมถึงสถาบันการเงิน ร่วมรับฟังข้อมูลประมาณ 30-50 คน โดยนักลงทุนให้ความสนใจแผนการลงทุนใหม่ ๆ ของบริษัทหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “มอนสูน” เฟสสอง (Monsoon Expansion) สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์

Back to top button