UNIX ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 180 ล้านหุ้น เตรียมเข้า SET ระดมทุนขยายธุรกิจ

UNIX ผู้ผลิตและจำหน่ายฟิล์มและบรรจุภัณฑ์พลาสติก ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 180 ล้านหุ้น เตรียมเข้า SET ระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ รองรับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต


นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ BYD ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ยูนิคพลาสติก อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ UNIX เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ UNIX เพื่อยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 180 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

ทั้งนี้ UNIX เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฟิล์มและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความชำนาญและประสบการณ์มากกว่า 30 ปี โดยบริษัทและบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจครบวงจรทั้งภาคผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลัก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ คือ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ฟิล์มและบรรจุภัณฑ์พลาสติก สามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย (1) ฟิล์มสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ลูกค้าที่สั่งซื้อฟิล์มชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจด้านอุปโภคและบริโภค กลุ่มลูกค้าที่ใช้สินค้าของบริษัทล้วนเป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายชั้นนำทั้งของประเทศไทยและระดับสากล

(2) ฟิล์มและบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุของหนัก (Heavy Duty Shipping Bag) ลูกค้าที่สั่งซื้อฟิล์มชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจธุรกิจประเภทปิโตรเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกของผู้ผลิตชั้นนำของประเทศไทย และ (3) ฟิล์มและบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป (Industrial Product Film) ลูกค้าที่สั่งซื้อฟิล์มชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป อาทิ เครื่องไฟฟ้า เครื่องใช้ครัวเรือนแบบอุปโภคและบริโภค

2.บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) บริษัทและบริษัทย่อยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ในประเทศไทย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการผู้ค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงร้านค้าขายของชำทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นถุงบรรจุภัณฑ์ สำหรับครัวเรือน เช่น ถุงร้อน, ถุงเย็น, ถุงหูหิ้ว, ถุงตัดตรง, ถุงขยะ และถุงอื่นๆ เป็นต้น โดยสินค้าประเภทนี้มีการผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง ได้แก่ ตรากุญแจ, ตรากุญแจใจ, ตรากุญแจแดง, ตรากุญแจเขียว, ตรากุญแจม่วง, ตรากุญแจน้ำตาล, ตรากุญแจน้ำเงิน และตรามิตรภาพ

สำหรับผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา โดยในปี 2564-2566 และงวด 3 เดือนแรกปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟิล์มและบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้ง 3 ประเภท โดยในปี 2564 มีรายได้ 1,690.16 ล้านบาท คิดเป็น 56.93% และในปี 2565 มีรายได้ 1,799.67 ล้านบาท คิดเป็น 55.90% ถัดมาในปี 2566 มีรายได้ 1,744.90 ล้านบาท คิดเป็น 57.89% และงวด 3 เดือนแรกปี 67 มีรายได้อยู่ที่ 463.47 ล้านบาท คิดเป็น 58.83% ของรายได้จากการขายรวม

ขณะที่มีรายได้จากการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 1,179.62 ล้านบาท คิดเป็น 39.66% ถัดมาในปี 2565 มีรายได้อยู่ที่ 1,279.06 ล้านบาท คิดเป็น 39.58% และในปี 2566 มีรายได้อยู่ที่ 1,210.27 ล้านบาท คิดเป็น 40.07% ส่วนในงวด 3 เดือนแรกปี 67 มีรายได้อยู่ที่ 318.06 ล้านบาท คิดเป็น 40.27% ของรายได้จากการขายรวม

นายโสฬส ยอดมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UNIX กล่าวว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนดังนี้ 1. ลงทุนในเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทและบริษัทย่อย 2. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย และ 3.ชำระคืนเงินกู้ยืมของบริษัทและบริษัทย่อย

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ (ถ้ามี) โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น

“เราเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความชำนาญและประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าและตลาดด้วยแนวคิดใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ (State of the Art) มุ่งส่งเสริมด้านการคิดค้น ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง (Research and Development) และสร้างแนวการทำงานฝ่ายผลิตที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) สามารถนำเสนอการลดต้นทุนให้กับลูกค้าผ่านแนวคิดการลดต้นทุนผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทน (Value Engineering) พร้อมดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้าน ESG ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อสร้างการเติบโต ควบคู่กับการสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน” นายโสฬส กล่าวในที่สุด

Back to top button