PCC ส่งซิกครึ่งหลังแจ่ม ลุยประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง ย้ำเป้ารายได้ปี 67 โต 10%
PCC ส่งซิกครึ่งปีหลังโตต่อ เดินหน้าประมูลงานใหม่ภาครัฐ-เอกชนต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อรองรับการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ยังคงย้ำเป้ารายได้ปี 67 โตเกิน 10%
นายอมร แดงโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยงานพัฒนาสถาปัตยกรรมและทุนทางปัญญาองค์กร บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PCC เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 19 ส.ค.67 ว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 86.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.51% ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,554.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.87% เป็นผลมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นอย่างการขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาหลักของงานสถานีไฟฟ้า โดยปัจจัยหลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. รายได้ขายกลุ่มสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย 2. รายได้ขายกลุ่มสินค้าสวิตช์ตัดตอนชนิดต่างๆ ได้แก่ โหลดเบรคสวิตซ์ 3. รายได้ขายระบบควบคุมและป้องกันสำหรับสถานีไฟฟ้า และ 4. รายได้ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ มิเตอร์ และ อุปกรณ์รีเลย์ป้องกัน
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง ยังมีมุมมองเติบโตต่อเนื่อง ตอบรับช่วงไฮซีซั่น และยังมีความเชื่อมั่น มั่นใจงานในมือ (Backlog) ในการรับรู้รายได้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโตเกินอยู่ที่ 10% มุ่งเน้นเป็น Organic Growth
เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการเติบโตจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าระบบ Smart Grid หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงานผลักดันผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
อีกทั้งบริษัทเดินหน้าประมูลงานใหม่ภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง โดยเน้นในเรื่องของระบบบริหารจัดการพลังงานเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทมีโอกาสที่จะมีรายได้ของกลุ่มดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นมา ขณะที่ปัจจุบันบริษัทยังคงรับงานเทสลาเป็นรายไตรมาส ซึ่งจะเริ่มกระจายส่วนกลางออกส่วนภูมิภาค หรือหัวเมืองใหญ่ที่จะเข้าไปติดตั้ง
อย่างไรก็ดี บริษัทมีโอกาสร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2567-2580 ในเรื่องของการปรับปรุงแผน PDP ฉบับใหม่ในปี 2567 ที่กำลังจะออกมา ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มพลังงานหมุนเวียนของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดเป็น 51% ภายในปี 2580 จาก 20% ในปี 2566
โดยเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อรองรับการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจที่เติบโต รวมถึงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดการใช้และเพิ่มประสิทธิภาพราคาไฟฟ้า
รวมถึงแผนดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายที่กว้างขึ้นของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2568
สำหรับการเติบโตของระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) และรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทกริดจะช่วยจัดการความต้องการในการชาร์จ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และรักษาสมดุลของกริด
อีกทั้งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีชาร์จด่วนแบบ DC ของประเทศเป็น 2,200-4,400 แห่งภายในปี 2568 จากประมาณ 1,500 สถานี ในเดือนพฤษภาคม 2566 และตั้งเป้าเพิ่มการใช้ EV เป็น 30% ของยานพาหนะทั้งหมดภายในปี 2573