“กรมทางหลวง” ไม่ต่อสัมปทาน “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เตรียมขึ้น 22 ธ.ค.นี้ สูงสุด 170 บาท

“กรมทางหลวง” ยืนยันไม่ขยายสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ออกไปอีก เตรียมปรับอัตราค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.67 ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าผ่านทางสูงสุดถึง 170 บาท


นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาลดผลกระทบประชาชนกรณีโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทล์ลเวย์ เตรียมปรับขึ้นราคาค่าผ่านทาง โดยระบุว่า ภายหลังทาง บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ประกาศเตรียมปรับอัตราค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2567 ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าผ่านทางสูงสุดถึง 170 บาท

อย่างไรก็ดี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ ทล.ศึกษาหาแนวทางในการปรับลดค่าผ่านทางในโครงการดังกล่าว โดย ทล.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 เพื่อศึกษาแนวทาง และความเป็นไปได้ ผ่านการเปรียบเทียบตัวเลขความคุ้มค่าในทุกมิติ ทั้งกรณีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง กรณีปรับขึ้นตามสัญญาเดิม และคาดการณ์จำนวนรถที่จะมาใช้บริการโครงการ

ทั้งนี้ พบว่าแนวทางที่เหมาะสม คือ ไม่ควรเจรจาขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก เพราะตัวเลขศึกษาออกมาพบว่าไม่คุ้มค่าในทุกกรณี ดังนั้นควรจะดำเนินการตามสัญญาสัมปทานตามเดิม และรอให้หมดสัญญาสัมปทานในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2577 เพื่อให้โครงการดังกล่าวกลับมาอยู่ภายใต้การบริหารของภาครัฐ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ ภาครัฐจะสามารถศึกษาโครงสร้างค่าผ่านทางใหม่ได้

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของกระทรวงฯ ต้องการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะมีแนวทางอย่างไรในการไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทาง หรือสามารถลดค่าผ่านทางได้ แต่เมื่อ ทล.มาศึกษาทุกแนวทางแล้ว กลับพบว่าไม่คุ้มค่า เพราะทางยกระดับดอนเมืองโทล์ลเวย์ เป็นหนึ่งในทางเลือกของประชาชนในการใช้บริการในช่วงเร่งด่วนที่มีการจราจรติดขัด และยังมีถนนวิภาวดีรังสิตที่เป็นถนนหลักให้บริการอยู่

ทั้งนี้ เมื่อไม่มีการเจรจาขยายสัมปทานให้เอกชนแล้ว จะส่งผลให้ค่าผ่านทางปรับขึ้นตามสัญญา ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2577 และหลังจากนั้นทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวงทันที เนื่องจากภายใต้สัญญานี้จะไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้ ทล. ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญาเพื่อเสนอต่อสัญญาเป็นรายแรก ดังนั้นจึงมีแนวทางดำเนินการคือ เปิดประมูลใหม่ หรือภาครัฐนำโครงการกลับมาบริหารเอง

อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กำหนดว่า ก่อนหมดสัญญา 5 ปี หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการ ดังนั้นในราวปี 2572-2573 ทล.จะต้องเริ่มขั้นตอนศึกษาแนวทางบริหารโครงการดอนเมืองโทล์ลเวย์ และมีผลให้สามารถปรับโครงสร้างราคาค่าผ่านทางใหม่ เนื่องจากต้องพิจารณาองค์ประกอบ อาทิ โครงสร้างทางยกระดับมีอายุกี่ปี งบประมาณที่ต้องใช้บำรุงรักษาต่อปี เพื่อนำมากำหนดอัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสม หลังหักค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา

“หากภาครัฐนำโครงการนี้มาบริหารหลังหมดสัญญาสัมปทาน ก็สามารถคำนวณค่าใช้จ่าย และกำหนดอัตราค่าผ่านทางที่ถูกลงได้ โดยคำนวณจากหักค่าใช้จ่ายเรื่องการบำรุงรักษาโครงสร้างทางยกระดับแล้ว ก็สามารถคิดราคาค่าผ่านทางในอัตราที่ถูกลง อาจได้เห็นราคา 20 บาท หรืออาจจะให้บริการฟรี หากว่าค่าใช้จ่ายบำรุงทางไม่สูงมาก”

ทั้งนี้ DMT ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางด่วนโทล์ลเวย์ ได้ออกมาประกาศเมื่อ 20 มิ.ย.2567 เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน โดยจะมีผลในวันที่ 22 ธ.ค.2567 เวลา 00:01 น. ซึ่งจะปรับอัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย.2550 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 21 ธ.ค.2572

โดยเป็นผลให้อัตราค่าผ่านทางยกระดับ ช่วงดินแดง – ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง 10 บาท (ค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อปี) ช่วงดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง 5 บาท (ค่าเฉลี่ย 1 บาทต่อปี) ทั้งนี้ จากอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้น แบ่งเป็น รถ 4 ล้อ ประเภทที่ 1 เริ่มต้น 40 บาท และสูงสุด 130 บาท ส่วนรถมากกว่า 4 ล้อ ประเภทที่ 2 เริ่มต้น 50 บาท และสูงสุด 170 บาท

Back to top button