สะพัด! “ซีกรุ๊ป” ผนึก BBL-VGI จ่อยื่นไลเซนส์ “เวอร์ชวลแบงก์” ก่อนเดดไลน์ 19 ก.ย.นี้

สะพัด! “ซีกรุ๊ป” ผนึก BBL-VGI จ่อยื่นไลเซนส์ “เวอร์ชวลแบงก์” ก่อนเดดไลน์ 19 ก.ย.นี้ จากก่อนหน้าจะมีกลุ่ม Gulf Energy CP Group และ SCBX มีการยืนไปแล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีใกล้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) หลังจากเปิดให้ยื่นคำขอมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และจะปิดรับคำขอในวันที่ 19 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะพิจารณาคัดเลือก โดยคาดว่าจะประกาศผลได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ซึ่งรอบนี้ ธปท.จะอนุญาตเพียง 3 รายก่อน และคาดจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณเดือน มิถุนายน 2569

ล่าสุดมีกระแสข่าวรายงานว่าบริษัท Sea Group จากประเทศสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้สนใจเข้าประมูลขอใบอนุญาต (license) สำหรับจัดตั้งธนาคารเสมือนจริง (Virtual bank) แห่งใหม่ของไทย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีกลุ่มธุรกิจ 5 กลุ่มยื่นประมูลขอใบอนุญาตดังกล่าว ก่อนหมดเขตระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ตามกำหนดการนั้น

โดย Sea Group จะยื่นประมูลขอใบอนุญาตผ่าน บริษัท SeaMoney Thailand ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินดิจิทัล การชำระเงิน และการกู้ยืมผ่าน ShopeePay และ SPayLater และมีกระแสข่าวลือว่า ทาง “ซีกรุ๊ป” จะผนึก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เตรียมยื่นไลเซนส์ “เวอร์ชวลแบงก์”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ BBL อาจจะไม่ได้มีพอร์ตลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยธุรกิจเด่นเรื่องลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีมากกว่า ขณะที่ฐานลูกค้า VGI ผ่านบัตรแรบบิทจะค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่แบงก์ BBL

ส่วนผู้ยื่นประมูลรายอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ เช่น Gulf Energy, CP Group และ SCBX

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ามี 4 กลุ่มทุนที่เห็นการประกาศชื่อออกมา กลุ่มทุนแรก คือ “เอสซีบี เอกซ์” ที่ส่งสัญญาณเดินหน้าเต็มสูบ ในการบุกเบิกในการให้บริการ Virtual bank ครั้งนี้ โดยได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอีก 2 รายที่นับว่าแข็งแกร่งอย่างมากด้าน “เทคโนโลยี” และประสบการณ์ในการทำ Virtual Bank ในต่างประเทศมาแล้ว นั่นคือ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน  และ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KakaoBank

กลุ่มที่สองกลุ่มธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ได้ผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งสำคัญในการเข้ามาชิงไลเซนส์ในการให้บริการ Virtual bank มองว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในการทำธุรกิจ

กลุ่มทุนที่สาม กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ส่งสัญญาณในการเข้ามาช่วงชิงไลเซนส์ Virtual Bank เนื่องจากพันธมิตรในกลุ่มเครือบริษัทยังเต็มไปด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน

กลุ่มทุนที่สี่ คือ กลุ่มของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ส่งบริษัทลูก คือ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI  เข้าไปช่วงชิงเค้กไลเซนส์ Virtual Bank โดยทาง BTS อาจผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างบีทีเอส และธนาคารกรุงเทพ ที่มีทั้งฐานลูกค้าจำนวนมาก  และความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินไม่แพ้แบงก์อื่นๆ

 

Back to top button