กทพ.-ITD ลงนามก่อสร้าง “ทางด่วนฉลองรัช จตุโชติ-ลำลูกกา” วงเงิน 1.8 หมื่นลบ.

กทพ.-ITD ลงนามสัญญาก่อสร้าง "ทางด่วนฉลองรัช จตุโชติ-ลำลูกกา" ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเปิดให้บริการ มิ.ย. ปี 71


นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ลงนามในสัญญาจ้างงานจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) โดยมี นายสุเมธ สุรบถโสภณ​ รองประธานบริหารอาวุโสบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมลงนามในสัญญา ณ ห้องประชุม 2801 ชั้น 28 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ.

โดยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการให้บริการด้านการจราจรและขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของพื้นที่ตัวเมือง ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว

สอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถ ในการแข่งขันของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้าน การสร้างความสามารถในการแข่งขัน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 โดยรายละเอียดโครงการฯ เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ มี ระยะทางประมาณ 16.21 กิโลเมตร รวมทางขึ้น-ลง

ขณะที่นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส ITD กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง โครงการนี้ เป็นทางพิเศษ ยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร โครงสร้างเป็นรูปแบบ Slab on Girder ส่วนโครงสร้างเสาเป็นเสาเดี่ยว ก่อสร้างบนระบบฐานราก ที่เป็นเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่  ซึ่งบริษัท ฯ มีประสบการณ์ ในการก่อสร้างทางยกระดับประเภทนี้มานาน จำนวนหลายโครงการต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งวิศวกรและทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง และมีการจัดหา เครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีต ที่มีคุณภาพสูง สำหรับใช้งานก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ ยึดมั่นในมาตรฐานการทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการทำงานทุกด้าน และมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานนี้ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณ กทพ. ที่ไว้วางใจให้บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ บริษัทฯ จะมุ่งมั่นปฏิบัติงานนี้ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

“ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังอำเภอธัญญะบุรี หรืออำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก จะใช้ถนนรังสิต-นครนายก และถนนพหลโยธินเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่สามารถเดินทางสู่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนี้ เส้นทางดังกล่าวยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจร เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง

ดังนั้น ความพยายามในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรดังกล่าว ของการทางพิเศษฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก จากการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัช ไปยังถนนลำลูกกา เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนน เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนปัจจุบัน อีกทั้งช่วยในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายกอีกด้วย จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามในสัญญาจ้างในวันนี้นายสุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการทางพิเศษ ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา มีวงเงินลงทุน  24,060 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 3,726.81 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 19,837.30 ล้านบาท (ราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท) ซึ่ง ITD เสนอต่ำกว่าราคากลางไม่ถึง 1%, ค่าควบคุมงาน 495.93 ล้านบาท มีทางขึ้น-ลง 3 แห่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลง จตุโชติ, ทางขึ้น-ลง หทัยราษฎร์, ทางขึ้น-ลง ลำลูกกา มีระยะเวลาดำเนินการ 1,080 วัน เปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2571

Back to top button