ทูตประเทศสมาชิก BRICS มอง “ไทย” มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง-มีโอกาสเข้าร่วมกลุ่มฉลุย!

ทูตประเทศสมาชิก BRICS เห็นพ้องไทยมีโอกาสเข้าร่วมกลุ่ม ชี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง-เป็นพันธมิตรที่ดีของชาติสมาชิกและเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียน


นายทนง ขันทอง นายกสมาคมสื่อมวลชนนานาชาติ ประเทศไทย (IMCT) เปิดเผยระหว่างกล่าวเปิดงาน BRICS Forum Thailand 2024 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ข้ามชาติ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านมิตรภาพกลุ่ม BRICS ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบระหว่างประเทศที่เสรีและมีความยุติธรรม ด้วยโอกาสทางการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่คิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก (ข้อมูลปี 2565) รวมถึงการเดินหน้าเพื่อการก่อตั้งสกุลเงินร่วมในกลุ่ม BRICS ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) สำหรับการค้าระหว่างกันในอนาคต

โดยไทยต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบระหว่างประเทศที่เสรีและมีความยุติธรรม ด้วยโอกาสทางการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 1 ใน 4 ของโลก โดยเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิก BRICS ต่างมองว่า BRICS เป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ผ่านความร่วมมือที่เป็นมิตรและเป็นประชาธิปไตย โดยไทยมีศักยภาพสูงที่จะได้รับการรับรองให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS จากการเป็นพันธมิตรที่ดีของชาติสมาชิกและเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียน

ด้านนาย Zhongchao Wei Chairman of Sinothai Empowering Industry Development Co.,LTD ได้ระบุว่า จีนพร้อมจะเดินหน้าตามความต้องการของแต่ละประเทศในความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน รวมถึง BRICS พร้อมขอบคุณ IMCT ที่จัดเวทีสาธารณะซึ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม BRICS อีกด้วย

ส่วนเวทีเสวนา ‘ส่งเสริมความสัมพันธ์ข้ามชาติ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านมิตรภาพกลุ่ม BRICS’ โอกาสและความท้าทายของไทยในประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS อนาคตด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้าและการลงทุน รวมถึงด้านอื่นๆ ในทัศนะมุมมองของเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ระบุถึงการขยายตัวของ BRICS การใช้สกุลเงินของตนเอง รวมถึงระบบการชำระเงินของ BRICS และความสัมพันธ์ทวิภาคีของแต่ละชาติกับไทย ซึ่ง H.E. Mr. Evgeny Tomikhin เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยมองว่า แม้จะมีปัญหาทางการเมือง แต่ในการที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอด BRICS ในปีนี้ (2024) ที่เมืองคาซาน

ขณะที่กลุ่ม BRICS ถูกมองว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็ต้องการจะเพิ่มบทบาทของ BRICS ในเวทีโลก ทั้งในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคี การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงวัฒนธรรมและมนุษยชาติ ผ่านกลไกความร่วมมือที่เป็นมิตรของ BRICS พร้อมสานต่อสิ่งที่ได้พูดคุยไว้บนเวทีการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 15 ที่โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว (2023) ส่วนไทยถือว่ามีศักยภาพมากในการเข้าร่วม BRICS

ด้าน H.E. Mr.Nagesh Singh เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในมุมมองของอินเดีย BRICS เป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งในความสนใจร่วมระหว่างแต่ละประเทศสมาชิก โดยมีการมองมุมมองแบบโลกสมัยใหม่ซึ่งมีหลายขั้วอำนาจ ครอบคลุม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมย้ำว่า วาระหลักของ BRICS ไม่ใช่ความร่วมมือที่เป็นไปเพื่อการต่อต้านโลกตะวันตก ซึ่งไทยมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการรับรองให้เข้าร่วม BRICS จากการที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ดีของแต่ละชาติสมาชิก และเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจที่ดี

ขณะที่ H.E. Mr.Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่าอิหร่านพร้อมสนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคีในโลกที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว นอกจากนี้ก็เชื่อว่าการจัดตั้ง  BRICS สะท้อนความร่วมมือและอัตลักษณ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งสำคัญต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ที่จะกลายเป็นพลังอำนาจต่อรองเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายบนเวทีระหว่างประเทศอย่าง UN หรือ G7 ส่วนการพัฒนา New Development Bank (NDB) ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้ระบบเดิมสะดุดลง แต่เป็นไปเพื่อให้ระบบการเงินของ BRICS มีศักยภาพและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่วนการที่ไทยจะเข้าร่วม BRICS แม้จะเข้าร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ด้วย ก็มองว่าไม่เป็นอุปสรรค

ส่วน H.E. Mr.Darkey Ephraim Africa เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกต้องการจะเห็นเวทีระหว่างประเทศที่เดินหน้าไปอย่างเป็นธรรม ซึ่ง BRICS มีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ทุกประเทศได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมมากขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวาระทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งแอฟริกาใต้ที่เติบโตทางการค้าไปกับ BRICS พร้อมจะผลักดันการส่งเสริมเศรษฐกิจและการเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียม สร้างความหลากหลายด้านการลงทุนและมูลค่าการส่งออกแบบมหภาคเพื่อรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงปกป้องเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจากอคติที่เกิดขึ้นต่อประเทศซีกโลกใต้ (Global South) โดยไม่ได้ต่อต้านชาติตะวันตกแต่อย่างใด ขณะที่ไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้เข้าร่วม BRICS จากการเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน

Back to top button