NT ปรับค่าบริการ NSW ผู้ประกอบการครวญต้นทุนพุ่ง หวั่นประชาชนโดนหางเลข

เสียงจากตัวแทนและผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก เรียกร้องรัฐบาลขอความเป็นธรรมจาก NT ปรับค่าบริการ NSW หวั่นผลักภาระถึงผู้ประกอบการเกิดมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคอย่างประชาชน


นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออกสินค้ากลุ่มโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e- Express) ทั้งทางอากาศและทางบก รวมถึงผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Air Port Terminal Operator) ทั้งรายใหญ่และรายย่อยมากกว่า 65% ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการกำหนดอัตราค่าบริการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ หรือ NSW ตามประกาศ ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ขณะที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายได้ร่วมมือกัน รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี และขอให้บริษัทเน็ตเบย์ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยเพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ NT กำหนดอัตราค่าบริการธุรกรรมแต่ละประเภททำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้น อาทิ ประเภทธุรกรรมสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e-Express) ที่มีอัตราค่าบริการสูงเกินไป อีกทั้งรูปแบบการคิดค่าบริการไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นมาก และการดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่การให้บริการกลับไม่ได้คุณภาพ และการพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ที่จำเป็นอีกหลายบริการยังไม่พัฒนาให้เสร็จสิ้น ไม่มีความก้าวหน้ากว่าที่กรมศุลกากรเคยดูแล

อีกทั้ง NT ยังผูกขาดในการให้บริการผ่านระบบ NSW  แต่เพียงรายเดียว ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยงหากเกิดปัญหาระบบล่ม ธุรกิจต้องหยุดชะงักทำให้เกิดความเสียหาย จึงควรยกเลิกการผูกขาด โดยเปิดให้แข่งขันอย่างเสรีเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับกรมศุลกากรได้โดยตรง

นางกอบกาญจนา กล่าวอีกว่า คงปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า รายได้จากการส่งออกคือรายได้หลักของประเทศไทยราว 70% ของ GDP ขณะที่การนำเข้าก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักรในการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงกลุ่ม ธุรกิจโลจิสติกส์ ล้วนเป็นองคาพยพที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่กำลังตกอยู่ในภาวะ ยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในสภาพตกต่ำต่อเนื่อง

แต่กลับมีการประกาศอัตราค่าบริการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ NSW ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) กระหน่ำซ้ำเติม แพลตฟอร์มบริการเชื่อมโยงช้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ NSW เป็นบริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกกับหน่วยงานต่างๆ ประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการส่งออก นําเข้า กลุ่มโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กระทั้งต้องทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตเป็นนายยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับยังฝากอนุเคราะห์ต่อไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ช่วยติดตาม พร้อมช่วยหาความเป็นธรรมถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนต่อไป

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า จุดเริ่มต้นของระบบ NSW เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน โดยกรมศุลกากร มีนโยบายอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาระบบและการดูแลระบบนั้น กรมศุลกากรได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ประกอบการ ขณะนั้นมีเอกชน 3 รายได้แก่ Trade Siam, CAT (NT ในปัจจุบัน) และ NETBAY เป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูล ระบบ NSW ของกรมศุลกากร เพื่อรับ-ส่งข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั้งในปี 2564 ครม.มีมติให้ NT เป็นผู้ให้บริการระบบ NSW หรือ NSW Operator ของประเทศ

โดยระยะแรก NT จะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการดูแลรักษาระบบ พร้อมกับลงทุนในระบบตามเงื่อนไข มติ ครม. กําหนดขอบเขตหน้าที่ผู้ให้บริการระบบ NSW ประกอบด้วย 1) พัฒนาระบบศูนย์กลางของประเทศ 2) พัฒนาระบบ Single Form 3) พัฒนาระบบ Gateway ของภาครัฐ 4) ออกแบบมาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ 5) ให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขปัญหา 6) ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการพัฒนาปรับปรุงระบบของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 7) จัดทำ SLA ผ่านระบบ NSW กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 8) ศึกษาและพัฒนาระบบ NSW

จนปัจจุบัน NT ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบทุกข้อ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีก็ไม่ก้าวหน้ากว่าเมื่อครั้งกรมศุลกากร บริหารจัดการ แต่กลับต้องเสียค่าบริการระบบ NSW เพิ่มขึ้น

กระทั่งปัญหามาเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อ NT เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการและได้ประกาศอัตรา ค่าบริการ NSW ซึ่งผู้ประกอบการ เห็นว่าอัตราค่าบริการที่ NT ประกาศใช้ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง NT ไม่เคยหารือกับผู้ ประกอบการที่ได้ รับผลกระทบโดยตรงประกอบด้วยผู้ ส่งออกและ นำเข้า ผู้ประกอบการตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e- Express) ทั้งทางอากาศและทางบก รวมถึงผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Air Port Terminal Operator) ทาง NT ก็อ้างว่าได้หารือกับ ชมรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการแห่งประเทศไทย โดยมีสมาชิกเป็นผู้ ให้บริการ Gateway, VAN/VAS, Software House เดิม คงหมายถึง แพล็ตฟอร์ม 8 รายที่ลงทะเบียนใช้ระบบ NSW กับ NT แต่ต้องเข้าใจว่าสัดส่วนผู้ประกอบการที่ใช้บริการของทั้ง 8 รายไม่น่าจะเกิน 30% และส่วนใหญ่เป็นรายย่อย

อย่างไรก็ตามการขึ้นอัตราค่าบริการ NSW สะท้อนให้เห็นว่า NT ไม่เข้าใจธุรกิจที่มีความซับซ้อน ค่าบริการจึง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น สินค้าบางประเภท ต้องคิดแบบเหมารวมเป็นตู้คอนเทนเนอร์ แต่ NT จะคิดอัตราค่าบริการตามขนาดของข้อมูลที่รับ-ส่ง (Kbyte) ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก บางรายการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100% เลยทีเดียว

ทั้งที่ผู้ประกอบการก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเป็นผู้จัดหาระบบที่ใช้จัดส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับภาครัฐ ตามที่กำหนด เพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารเรื่องการจัดเก็บค่าภาษี และค่าธรรมเนียมได้ แล้วเหตุใดยังจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งข้อมูลให้กับภาครัฐเพิ่มเติมอีก

นางกอบกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ NETBAY ไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ดำเนินการในฐานะที่ทำหน้าที่เป็น Gate Keeper ดูแลระบบและทำหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือลูกค้า และภาครัฐ ที่ใช้ บริการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เกือบ 70% ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว

โดยที่สำคัญลูกค้าที่ใช้บริการ NETBAY แต่ละรายล้วนเป็นรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติเช่น DHL, UPS, สายการเดินเรือต่างๆ รวมถึงคลังสินค้าต่างๆ เป็นต้น ที่ไว้วางใจในความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐานระดับโลก และใช้ บริการมานาน ลูกค้าบางรายมีธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะไม่สามารถใช้แพลตฟอร์มรายอื่นได้ จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มของ NETBAY เท่านั้น

อีกทั้ง NETBAY เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ย่อมได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าระดับโลก มากกว่า สะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาด เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 70% ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ คือเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ย่ำว่า NETBAY ย่อมไม่ใช่คู่กรณี NT เป็นแต่เพียงทำหน้าที่คนกลาง หาก NETBAY จะผลักภาระนี้ให้ ผู้ประกอบการย่อมทำได้ แต่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติจะขาดความเชื่อมัน และย้ายธุรกรรมไปยัง ประเทศที่มีระบบดีกว่า และต้นทุนถูกกว่าแทนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงยังขัดต่อนโยบายที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญในอนุภูมิภาค และภูมิภาค เรื่องนี้ NT ต้องหันหน้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ หาจุดที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ถ้าตกลงไม่ได้รัฐบาลอาจจะต้องโยนกลับมาให้กรมศุลกากร ที่มีความเข้าใจในธุรกิจนําเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์เป็นอย่างดีดูแลเหมือนเดิม

นอกจากนี้รัฐบาลอาจจะยกเลิก มติคณะรัฐมนตรีปี 2564 เท่ากับยกเลิกการผูกขาดรายเดียวและเปิดเสรีให้เอกชน ทําระบบให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีเสียงจากตัวแทนผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วนทางบก กล่าวว่า จากกรณีที่ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะมีการจัดเก็บอัตราค่าบริการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ NSW นั้น จากเดิมที่คิดค่าบริการโดยนับเป็นตู้คอนเทนเนอร์ แต่หากเปลี่ยนการจัดเก็บค่าบริการเป็นตามขนาดของข้อมูลที่รับ-ส่ง (Kbyte) ตามอัตราค่าใช้บริการระบบ NSW ที่ NT ประกาศ อาจทำให้ได้ยากลำบาก และต้องใช้เวลาล่าช้าออกไปมากกว่าเดิม มิหนำซ้ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะเดิมที่ทางผู้ประกอบการคิดค่าบริการในราคาขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นหาก NT เก็บอัตราค่าบริการระบบ NSW ถือว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมากเนื่องจากทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และอาจทำให้ธุรกิจอาจต้องสะดุดลงได้ และสิ่งสำคัญผลดังกล่าวอาจจะต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภคต่อไปที่จะได้ซื้อสินค้าแพงขึ้นเป็นได้ในอนาคต

“ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลให้มีความประสานกันทุกฝ่าย มันจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้ธุรกิจอาจต้องชะงักได้เช่นกัน”  ตัวแทนผู้ประกอบการ กล่าว

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันจังหวัดนครพนมและมุกดาหาร จะมีผู้ได้ใบอนุญาต INLAND CONTAINER DEPOT หรือ I.C.D. ซึ่งเป็นโรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออก โดยมีจำนวน 4 รายด้วยกันที่เป็นตัวแทนตรวจสอบสินค้าให้กับกรมศุลกากร

จากการศึกษาดูงานการค้าชายแดนทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง แหล่งข่าวเปิดเผยว่าช่วง 11 เดือนแรก (ต.ค.66-ส.ค.67) พบว่า มีมูลค่ายอดการค้ารวมราว 9 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท โดยมียอดการส่งออกมูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท และนำเข้ามูลค่าราว 3-4 หมื่นล้านบาท

โดยสินค้าส่งออกตลอดทุกวันไปยังประเทศเวียดนามกลายเป็นกระทิงแดง เนื่องจากเป็นที่นิยมมากสำหรับเวียดนาม ตามด้วยน้ำมัน และยังมีสินค้าเกษตรอย่างผลไม้มากสุดจะเป็นทุเรียน มังคุด เป็นต้น

ขณะที่สินค้านำเข้าจะเป็นสินค้าอิเล็กเทอนิกเป็นส่วนใหญ่ เพื่อนำเข้ามาผลิตและดัดแปลง จากนั้นก็ได้ส่งออกกลับไปเป็นลักษณะสินค้าพร้อมใช้งาน และมีสินค้านำเข้าหลักๆ ไม่พ้นสินค้ามาจากการสั่งผ่านออนไลน์ เช่น จากช้อปปี้เข้ามาจำนวนมาก และจะเห็นว่ามีประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นสินค้ามาจากประเทศจีนเป็นหลัก

Back to top button