CGSI สแกนงบ 7 หุ้น “ค้าปลีก” ครึ่งปีหลัง ชู CRC เด่น รับดอกเบี้ยขาลง

“ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล” ประเมินแนวโน้มกลุ่ม “ค้าปลีก” ช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมชู CRC มีโอกาสเติบโตรับอานิสงส์ดอกเบี้ยลดลง


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า บริษัทในกลุ่มค้าปลีก 7 แห่งที่ศึกษา ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 รวม 1.37 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.50% จากปีก่อน และลดลง 7.40% จากไตรมาสก่อน โดยยังคงได้ประโยชน์จากการขยายสาขาและศักยภาพการทำกำไรที่สูงขึ้น

ขณะที่ CPALL มีผลประกอบการโดดเด่น มีกำไรปกติเติบโตสูงสุด 37.40% จากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง และหนุนโดย CPAXT ที่มีกำไรปกติเติบโต 27.90% จากปีก่อน เพราะผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ Lotus’s ช่วยชดเชยผลประกอบการที่อ่อนตัวของ Makro

ด้าน BJC มีกำไรปกติเติบโต 1.50% จากปีก่อน เพราะมีภาษีจ่ายสูงขึ้น แม้ว่าจะได้ประโยชน์จากอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วน CRC กำไรปกติลดลง 8.80% จากปีก่อน เนื่องจากมีดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นและส่วนแบ่งกำไรลดลง แต่ยังมี GPM ทรงตัวจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

ส่วน DOHOME, GLOBAL และ HMPRO การเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ติดลบในไตรมาส 2/67 เนื่องจากยอดขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและตกแต่งบ้านอ่อนตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูง แต่กลุ่ม Home improvement แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นด้วยการบริหารอัตรากำไรอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น DOHOME จึงนำกลุ่มด้วยกำไรปกติเติบโตสูง 389% จากปีก่อน จากฐานที่ต่ำ ส่วน GLOBAL มีกำไรปกติโต 8.80% และ HMPRO มีกำไรสุทธิทรงตัว ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับมือแรงกดดันด้านยอดขาย

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดการณ์ว่าผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอาหารอย่าง CPALL และ CPAXT จะยัง outperform เนื่องจากความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงอ่อนตัว เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยสูงและความมั่งคั่งที่ลดลงหลังหุ้นไทยปรับตัวลงแรง ส่งสัญญาว่าการจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยน่าจะอ่อนตัวต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะเริ่มเห็นอุปสงค์สินค้าฟุ่มเฟือยฟื้นตัวภายในสามเดือน หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ หากรัฐบาลใหม่ตัดสินใจไม่เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคาดมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 4/67 อาจเห็นการขยายตัวของ GDP ไทยชะลอตัวและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง ซึ่งอาจทำให้ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ของ CGSI คาดไว้ในไตรมาส 2/68 เช่นไตรมาส 4/67 กรณีนี้มองว่า CRC น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยลอยตัวสูง ซึ่งจะทำให้ CRC ฟื้นตัว เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง

ขณะที่เชื่อว่ากลุ่ม Home improvement อาจฟื้นตัวช้า เนื่องจากอุปสงค์ของวัสดุก่อสร้าง และสินค้าที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหลังการปรับลดดอกเบี้ยจึงจะกลับมาฟื้นตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นหุ้น Recovery play ช่วงปลายวงจร

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เห็นว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรก ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความยืดหยุ่นการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพของกลุ่มค้าปลีก และเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ผู้ค้าปลีกสินค้าอาหารจะยังนำการเติบโตของกลุ่มค้าปลีก ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยของธปท. เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของผู้ค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือยและ Home improvement นอกจากนี้ ควรจับตาดูนโยบายรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของกลุ่มค้าปลีกในเดือนที่เหลือ

หุ้น CPALL มีผลประกอบกการแข็งแกร่งยังคงเป็นหุ้น Top pick ในกลุ่มค้าปลีกของไทย และ CPALL น่าจะยัง outperform ในครึ่งปีหลัง เพราะสินค้าอาหารและสินค้าที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ จะยังเป็นที่ต้องการนอกจากนี้ มองว่าการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและเครือข่ายสาขาร้าน 7-Eleven ที่กว้างขวางยังเป็น ฐานที่แข็งแกร่งในการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน

ขณะที่หุ้น CRC เป็นหุ้น Recovery play ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย เชื่อว่าจังหวะเหมาะที่จะเข้าซื้อ CRC คือราว 2-3 เดือนก่อนวันที่คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย

โดยยังแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในกลุ่มค้าปลีก โดยมองว่า downside risk จะมาจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวกว่าคาด ซึ่งจะฉุดให้ SSSG ลดลงและการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มแรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ส่วนปัจจัยบวกคือการที่ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในแหล่งท่องเที่ยว

Back to top button