คมนาคมตั้ง “อินฟราฟันด์” เวนคืนรถไฟฟ้า! BTS ลั่นพร้อมขายสีเขียว-สีชมพู-เหลือง-ส้ม

BTS-BEM เตรียมรับแผนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน สนองนโยบาย 20 บาทตลอดสาย “คมนาคม” เร่งหารือคลังตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมารับซื้อคืนจากเอกชน ผู้บริหารบีทีเอส ลั่นพร้อมเจรจาขายสายสีเขียวหลัก มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 5 หมื่นล้านบาท หลังเหลือสัมปทานแค่ 5 ปี สายสีเหลืองและชมพูรอหารือร่วมกับผู้ร่วมทุนก่อน ทั้ง STEC-RATCH ส่วนสายสีน้ำเงินรอวัดใจ BEM คนใช้บริการแน่น สัมปทานเหลืออีกนานถึงปี 92 โบรกฯ มองสายสีเขียวหลักมีโอกาสขายได้มากสุด รวมทั้งเหลือง ชมพู เอกชนขายคุ้มกว่าถือไว้ เพราะยังขาดทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 สิงหาคม 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาจากโมเดลในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เพื่อทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารสอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-80% ของมูลค่าโครงการ อีก 20-30% ที่เป็นค่าระบบและรถไฟฟ้า ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและให้สัมปทานเดินรถและดูแลรักษาไปอีก 30 ปี กลายเป็น รัฐลงทุนมาก แต่เสียโอกาสในการกำหนดค่าโดยสารถูก ๆ เพื่อประชาชน ซึ่งการปรับเป็นจ้างเดินรถจะดีกว่า คล้ายสายสีม่วงที่จ้างเอกชนเดินรถแบบ PPP Gross Cost ตอนนี้ใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ และทำให้มีประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมากตามเป้าหมายที่ส่งเสริมการใช้ระบบรางเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 และประหยัดพลังงานด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ต้องการยึดสัมปทานรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน แต่จะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้เป็นหลัก ซึ่งยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อคืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา แต่ก็ยังคงจะจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถต่อไป ทั้งนี้เพื่อทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายค่าโดยสาร และสามารถเก็บ 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ถึงความเป็นไปได้ในการนำรายได้ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นและเพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรติดขัดอีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวว่า  กองทุนฯที่จัดตั้งขึ้นจะเข้ามาเจรจาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สีเหลืองและสีส้ม ที่ยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกกว่า 20 ปี ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเหลืออายุอีกประมาณ 5 ปีเท่านั้น โดยเมื่อรัฐซื้อคืนสัมปทานกลับมาแล้วจะปรับรูปแบบสัญญาจากสัมปทาน PPP Net Cost เป็นการจ้างเดินรถ หรือ PPP Gross Cost โดยจะจ้างเอกชนรายเดิมที่ยังไม่หมดสัมปทานเดินรถต่อไปจนหมดสัญญา ดังนั้นเอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงในการเดินรถจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างดังกล่าว

“เป้าหมายของเรื่องนี้คือ ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด มั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสายแน่นอน ส่วนเอกชนรายเดิมยังเป็นผู้เดินรถต่อไป เพราะจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาจ้างเดินรถ เอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยง ผมขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องยึดคืนสัมปทานจากเอกชนแน่นอน เพราะหากรัฐบาลทำแบบนั้นต่อไปเอกชนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนส่วนการเจรจาซื้อคืน และจ้างเดินรถแบบใหม่นี้ จะมีระยะเวลาจ้างตามอายุสัญญาที่เอกชนเหลือแต่ละโครงการ” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่า ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยก่อน เรื่องการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจะมีการแนวทางดำเนินการ เท่าที่มีการปรึกษากับกระทรวงการคลังมีแนวทางการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อระดมเงินซื้อกิจการรถไฟฟ้าจากเอกชน ส่วนจะเอาเงินจากไหนเข้ามาคงต้องปรึกษากระทรวงการคลัง และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

“เบื้องต้น กระทรวงจะต้องมีการศึกษาให้เกิดความชัดเจน ส่วนแนวคิด Congestion charge ประเทศอื่นมีการเก็บจริงๆ และส่วนตัวได้ไปดูโมเดลนี้ที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว จึงคิดว่าในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บ เมื่อมีระบบขนส่งครบบริบูรณ์แล้ว เช่น ย่านถนนรัชดาภิเษก ถ้าตรงนั้นมีรถไฟฟ้าครอบคลุมแล้ว อาจจะต้องเก็บ หรือแถวถนนสุขุมวิทก็อาจจะต้องเก็บ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับการซื้อคืนระบบรถไฟฟ้าจะใช้เวลาศึกษาเท่าไหร่ จะชัดเจนเมื่อใด และถ้าทำจริงต้องทุกสีทุกสายเลยไหม นายสุริยะกล่าวว่า ต้องขอดูก่อน เบื้องต้นอาจจะร่วมกันกับกระทรวงการคลัง แต่ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน ส่วนจะต้องรอให้รถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จทุกสายก่อนหรือเปล่านั้น คิดว่าตอนนี้บางจุดมีรถไฟฟ้าผ่านครบแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องไปจ้างที่ปรึกษาว่าสมควรทำตรงจุดไหนก่อน เก็บเท่าไร เรื่องนี้ ยังไม่เคยศึกษามาก่อน อาจจะมอบ สนข.เป็นผู้ศึกษา

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ ”ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อคืนสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐ เพื่อผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า บริษัทพร้อมที่จะเจรจากับภาครัฐ และเริ่มเตรียมข้อมูลโครงการรถไฟฟ้า BTS ที่ได้รับสัมปทานไว้แล้ว ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 BTS ได้ขายสิทธิในรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในช่วงระยะเวลาที่เหลือให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF)  ซึ่งมีรายได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี และประเมินว่าในช่วงสัญญา 5 ปีที่เหลือนี้จะยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากการที่ผู้โดยสารฟื้นตัวหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดโควิด-19 และหลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แล้ว กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างเดินรถกับ BTS ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572-2 พฤษภาคม 2585 ซึ่งหากรัฐบาลจะเจรจาขอซื้อคืนก่อนหมดสัมปทานจริงก็จะต้องมีการหารือกับ BTSGIF ด้วย

ปัจจุบันสายสีเขียวดำเนินโครงการในรูปแบบสัมปทานการแบ่งส่วนแบ่งรายได้แก่รัฐปัจจุบัน มี 3 สายทาง คือ สายสีเขียวหลัก คือ สายสุขุมวิท หมอชิต – อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กม. ซึ่ง BTSC เป็นผู้รับสัมปทานจากกทม. จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่ยังเหลือสัญญาสัมปทานอีก 29 ปี สิ้นสุดในปี 2595 โดยมีผู้ร่วมทุน 3 ราย คือ BTS บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC นั้น ทาง BTS ต้องมีการหารือร่วมกับผู้ร่วมทุนก่อนว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 สายทางยังอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่ 1 แสนคนต่อวัน

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าที่มีสัมปทานแบบแบ่งรายได้กับภาครัฐนั้น ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือ BTS เป็นผู้รับสัมปทานจาก กทม. จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572

2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ มีมูลค่าการลงทุน 108,667 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 24,527 ล้านบาท , ค่าที่ปรึกษา ออกแบบและควบคุมงาน 3,087 ล้านบาท , ค่าออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างงานโยธา 63,635 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 17,418 ล้านบาท (เอกชนลงทุนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล นอกนั้นรัฐรับผิดชอบ)

สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค มีมูลค่าการลงทุนรวม 82,369.17 ล้านบาท โดยรัฐรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,900 ล้านบาท เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา 53,683.75 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 22,785.42 ล้านบาท  โดยสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในปี 2592 โดยมี BEM เป็นผู้รับสัมปทาน

3.สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง วงเงินลงทุนรวม 51,810 ล้านบาท รัฐรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,013 ล้านบาท ที่เหลือเอกชนรับผิดชอบ คือ ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,354 ล้านบาท (โดยรัฐจะสนับสนุนค่างานโยธาแก่ผู้รับงาน วงเงินไม่เกิน 25,050 ล้านบาท) , ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า 21,939 ล้านบาท , ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 1,504 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาปี 2595 มี BTS-RATCH-STEC รวมกลุ่มรับงาน

4.สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี มีวงเงินลงทุนรวม 53,490 ล้านบาท รัฐรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,847 ล้านบาท (รัฐรับผิดชอบ) ส่วนที่เหลือเอกชนรับผิดชอบ คือ ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,595 ล้านบาท (โดยรัฐจะสนับสนุนค่างานโยธาแก่ผู้รับงาน วงเงินไม่เกิน 20,135 ล้านบาท) , ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า 24,524 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 1,524 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาปี 2595 มี BTS-RATCH-STEC รวมกลุ่มรับงาน

5.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 139,127 ล้านบาท BEM ว่าจ้าง CK ก่อสร้าง โยธา 91,500 ล้านบาท (รัฐจ่ายคืน) และลงทุนจัดหาขบวนรถ 30,000 ล้านบาท เพิ่งเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 อายุสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) BEM เป็นผู้รับสัมปทาน

ขณะที่นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS มองว่ากรณีดังกล่าวน่าจะเป็นบวกกับ BTS มากกว่า BEM เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใกล้หมดสัมปทานในปี 2572 แล้ว การเจรจาก็น่าจะง่ายกว่ารถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ เนื่องจากใช้งบลงทุนไม่มากนัก และราคาต้องมีพรีเมียมให้ภาคเอกชน

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู เพิ่งเริ่มดำเนินโครงการและยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนของโครงการ หาก BTS ตัดสินใจขายคืนให้ภาครัฐก็จะช่วยลดผลขาดทุนในแต่ละปีลงไปได้ ขณะที่ได้สัมปทานเป็นสัญญาจ้างเดินรถในระยะยาวมาแทน ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเหมือนรับสัมปทานเดินรถเอง

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของ  BEM ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2592 นั้น การเจรจาอาจยากกว่าสายสีเขียว เพราะเส้นทางดังกล่าวถึงจุดคุ้มทุนแล้ว สามารถสร้างผลตอบแทนให้บริษัทในระยะยาว หากรัฐจะซื้อคืนในราคาถูกคงเป็นเรื่องที่ยาก

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หากพิจารณาเป็นรายสายทางก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถเจรจาซื้อคืนสัมปทานได้ เช่น สายสีเขียวหลัก ที่เหลือสัญญาแค่ 5 ปี ซึ่ง BTS น่าจะเจรจาขายคืนรัฐได้ ,สายสีเหลืองและสีชมพู ที่อยู่ในภาวะขาดทุน เพราะปัจจุบันสายสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 40,000 คนต่อวัน และสายสีชมพู เฉลี่ย 60,000 คนต่อวัน ขณะที่จุดคุ้นทุนต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คนต่อวัน ซึ่ง BTS ก็คงอยากขายคืนให้รัฐ อีกทั้งทราบว่า BTS มีแนวคิดที่จะเสนอขอการเยียวยาจากภาครัฐจากผลกระทบ

ด้านสายสีส้มที่ BEM เพิ่งได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา หากรัฐจะขอซื้อคืนก็มีความเป็นไปได้ เพราะ BEM ยังแทบไม่ได้เริ่มงาน และประเมินว่าสายทางนั้นผู้โดยสารจะไม่สูงมากเท่าสายสีน้ำเงินที่เป็นเส้นทางวิ่งแบบวงกลมกลางเมืองด้วย ทั้งนี้หากประเมินเป็นมูลค่าทางธุรกิจของ BEM สายสีน้ำเงินจะมีมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท และสายสีส้มมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

Back to top button