โบรกคัด 6 หุ้น “พลังงาน-โรงกลั่น” รับน้ำมันยืนสูง ชู BCP-SPRC ท็อปพิก
ASPS มองทิศทางราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลังยังทรงตัวในระดับสูง จากความตึงเครียดสถานการณ์ตะวันออกกลาง พร้อมแนะสะสม 6 หุ้นโรงกลั่น PTT-PTTEP-TOP-SPRC-BCP-SUSCO
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุในบทวิเคราะห์วานนี้ (27 ส.ค.67) คงมุมมองคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันจะยังทรงตัวได้ในระดับสูง ต่อเนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านยืนยันโจมตีอิสราเอลแน่ ตอบโต้ที่อิสราเอลลอบสังหารนายฟูอัด ชูกร์ ผู้บัญชาการทหารระดับสูง ของฮิซบอลเลาะห์เมื่อเดือนที่แล้ว 2.ลิเบียประกาศระงับการผลิตน้ำมัน เหตุความขัดแย้งในกลุ่มรัฐบาลในประเทศตนเอง ซึ่งลิเบียมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันใน OPEC ราว 4.30%
ดังนั้นทำให้คงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบระยะยาวตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไปอยู่ที่ 80 เหรียญฯ/บาร์เรล (ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน) ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าสร้างเซนติเมนต์เชิงบวกต่อ SET INDEX เนื่องจาก SET มีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม น้ำมัน-โรงกลั่นสูงถึง 1 ใน 3 ของสัดส่วนทั้งหมด
โดยหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่น่าสะสม คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP และ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดการณ์ว่า กำลังการกลั่นทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นแตะ 1.40 ล้านบาร์เรล/วันในปี 67 เทียบกับประมาณ 1.30 ล้านบาร์เรล/ วันในปี 66 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง (โครงการที่เปิดในปี 65-66 เพิ่มการผลิต) และโรงกลั่น Dangote ในประเทศไนจีเรียที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในเดือนมี.ค.67
อย่างไรก็ตาม ประมาณการว่าโรงกลั่น Dangote น่าจะใช้กำลังการผลิตเต็มที่ในปี 68 นอกจากนี้ยังคาดว่าโครงการ Shangdong Yulong ในจีนและโรงกลั่น Olmeca ในเม็กซิโก อาจสามารถเปิดเชิงพาณิชย์ในปีหน้า
ด้าน Bloomberg รายงานว่าในครึ่งปีแรก จีนส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ลดลง 29.30% และ 20.30% จากปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จีนมีปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง (onshore) อยู่ในระดับสูง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนตัว ดังนั้นหน่วยงานรัฐของจีนจึงอาจพิจารณาเพิ่มโควต้าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็น 15mt ในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้โควตาทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 22mt หรือเพิ่มขึ้น 21.70% จากปีก่อน ตามรายงานของ Reuters
ดังนั้นเมื่อรวมกับโควต้านำเข้าน้ำมันดิบที่จัดสรรโดยโรงกลั่นขนาดใหญ่ และแนวโน้มเพิ่มโควต้าการส่งออก โรงกลั่นเอกชนจึงอาจเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตและเร่งการส่งออกในครึ่งปีหลังนี้
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่า ค่าการกลั่นตลาด (GRM) ของโรงกลั่นไทยน่าจะแตะจุดต่ำสุดของปีนี้ในไตรมาส 2/67 แล้ว เห็นได้จากการที่ crack spread ของน้ำมันดีเซลในเอเชียเริ่มปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/67 จนถึงปัจจุบัน จาก 13.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/67 เนื่องจากโรงกลั่นบางแห่งในเอเชียเหนือยังคงลดอัตราการใช้กำลังการผลิต จึงช่วยชดเชยผลกระทบบางส่วนจาก crack spread น้ำมันเบนซินที่อ่อนตัว
นอกจากนี้ ยังคาดว่าต้นทุนน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่ลดลง น่าจะช่วยให้โรงกลั่นไทยมี GRM ฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ GRM อาจกลับเข้าสู่ขาลงในไตรมาส 4/67 เมื่อจีนมีการส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น
หุ้นโรงกลั่นไทย underperform คู่แข่งในเกาหลีใต้อย่าง S-Oil และ GS Holdings 2-48% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าน่าจะสะท้อนความเสี่ยงด้านการกำกับดูแล (รัฐบาลเข้ามาคุม GRM รวมถึงแนวโน้มการปรับเพิ่มปริมาณสำรองตามกฎหมาย) ขณะที่หุ้น Top pick ในกลุ่มโรงกลั่นคือ SPRC ราคาเป้าหมาย 10 บาท และ BCP ราคาเป้าหมาย 40 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือ PTT เพราะทั้งสองบริษัทน่าจะมีความยืดหยุ่นในการลดความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลในประเทศมากกว่า เช่น การเพิ่มปริมาณส่งออกหรือลดอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่น
ดังนั้น จึงยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มโรงกลั่นไทย เพราะ GRM น่าจะทรงตัวในระดับกลางวงจรที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 67-68 โดยมองว่า upside risk จะมาจากความต้องการน้ำมันดีเซลที่แข็งแกร่งกว่าคาดในตลาดโลก ส่วน downside risk คือการที่ผู้ประกอบการมีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสูงกว่าคาด