“หุ้นรับเหมา” เตรียมเฮ! ลุ้นรัฐบาลอัดเงิน 7.3 แสนลบ. สร้าง 13 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน
“กระทรวงคมนาคม” เตรียมชงรัฐบาลใหม่ อัดเม็ดเงินลงทุนกรอบ 7.3 แสนล้านบาท เดินหน้า 13 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน บล.กรุงศรี มีมุมมองจิตวิทยาบวกต่อหุ้นรับเหมา เช่น CK-STEC-TASCO-DOHOME-GLOBAL และ SCC
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมการประชุม
สำหรับในที่ประชุม มีการรวบรวมโครงการลงทุนเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมจะยังคงจะสานต่อและจะเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายในปีนี้ ทั้งหมด 13 โครงการ กรอบวงเงินรวม 727,388 ล้านบาท มีดังนี้
1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วงเงินรวม 6,473 ล้านบาท
2.โครงการส่วนต่อขยายระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา 15,176 ล้านบาท
3.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ฉลองรัช-วงแหวนรอบนอก วงเงิน 16,960 ล้านบาท
4.โครงการทางด่วนกระทู้-ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท
5.โครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายอุตราภิมุข รังสิต-บางปะอิน (M5) (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์) งบรวม 31,358 ล้านบาท
6.โครงการมอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอก ช่วงตะวันตกบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) วงเงิน 56,035 ล้านบาท และช่วง บางบัวทอง-บางปะอิน 35 กม. วงเงินรวม 15,936 ล้านบาท
7.โครงการรถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 341,351 ล้านบาท
8.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 6 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 245,260 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
9.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
10.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท
11.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท
12.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
13.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการลงทุนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่นี้นั้น เป็นโครงการที่มีความพร้อม และทางกระทรวงคมนาคมก็เคยเสนอที่จะเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จึงต้องนำเสนอกลับมาเพื่อเตรียมเสนอเข้า ครม.พิจารณาใหม่อีกครั้ง และบางส่วนก็เป็นโครงการที่พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานกระทรวงฯ
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการณีกระทรวงคมนาคม เตรียมชงรัฐบาลใหม่ อัดเม็ดเงินลงทุนกว่า 7.3 แสนล้านบาท เดินหน้า 13 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน โดยมั่นใจทยอยเปิดประมูลภายในปี 2567 ทั้งนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมายคาดหนุนงบลงทุนรัฐฯจำนวนมากออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ GDP งวดครึ่งหลังปี 2567 และปี 2568
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอนุรักษ์นิยมตามขั้นตอนโครงการต่างๆในปัจจุบัน มองโครงการที่มีโอกาสเกิดขึ้นเร็ว คือ กลุ่มที่รอเสนอ ครม. อนุมัติ ราว 5.0 +/- แสนล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ จิระ–อุบล มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท, ปากน้ำโพ–เด่นชัย มูลค่า 6.28 หมื่นล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 6.5 พันล้านบาท รวม 1.04 แสนล้านบาท
อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง โคราช-หนองคาย วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท, โครงการรถไฟชานเมือง อาทิ ตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 1.06 หมื่นล้านบาท, ตลิ่งชัน–ร.พ. ศิริราช มูลค่า 4.7 พันล้านบาท รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ มูลค่า 6.5 พันล้านบาท รวม 2.2 หมื่นล้านบาท และทางด่วน ประเสริฐมนูญกิจ–วงแหวนรอบนอก มูลค่า 1.69 หมื่นล้านบาท
โดยฝ่ายนักวิเคราะห์มองจิตวิทยาบวกต่อหุ้นรับเหมา อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC, บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO และหุ้นจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อาทิ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC