VGI ผนึกแบงก์ใหญ่-ทุนสิงคโปร์ ลุยเวอร์ชวลแบงก์-จ่อยื่นขอไลเซนส์ต้นเดือน ก.ย.นี้
“กลุ่มวีจีไอ” จับมือ “แบงก์ใหญ่-ทุนสิงคโปร์” ยื่นขอไลเซนส์” เวอร์ชวลแบงก์ต้นเดือน ก.ย.นี้ ผู้บริหารมั่นใจฐานลูกค้า RABBIT แข็งแกร่ง ฐานลูกค้ากว่า 8 ล้านราย หลังได้ใบอนุญาตสามารถรับเงินฝากได้ ต้นทุนลดฮวบ-มาร์จิ้นพุ่ง เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น 30 ก.ย.นี้ เพิ่มทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ด้าน “คีรี” หนุนรัฐตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเวนคืนรถไฟฟ้า มองวิน-วินทุกฝ่าย
นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กลุ่มบีทีเอสในนาม VGI และพันธมิตร 3-4 ราย เตรียมยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยธปท.ได้เปิดให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567 โดย VGI จะถือหุ้นไม่เกิน 25%
สำหรับพันธมิตรที่เข้ามาร่วมกับ VGI จะมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยและกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ จะมีกลุ่มลูกค้าของตัวเองอยู่แล้ว ที่จะมาใช้บริการเวอร์ชวลแบงก์ โดยปัจจุบันบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT บริษัทลูกของวีจีไอ มีลูกค้าอยู่ประมาณ 8 ล้านราย
โดยปัจจุบันบริษัท แรบบิท แคช จำกัด มีการปล่อยสินเชื่อออนไลน์อยู่แล้ว แต่ภายหลังจากได้ใบอนุญาตประกอบการ Virtual Bank ก็จะสามารถรับเงินฝากได้ ทำให้ต้นทุนต่ำลงกว่าในปัจจุบัน จะทำให้การปล่อยสินเชื่อมีมาร์จิ้นสูงขึ้น ขณะที่ VGI ที่ธุรกิจโฆษณาที่จะเข้าเสริมการประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าบริษัท Sea Group จากประเทศสิงคโปร์ จะส่งบริษัท SeaMoney Thailand ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินดิจิทัล การชำระเงิน และการกู้ยืมผ่าน ShopeePay และ SPayLater ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา
นายกวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีธุรกิจ Virtual Bank เพิ่มเข้ามา แต่ธุรกิจหลักของ VGI ก็ยังคงเป็นธุรกิจด้านโฆษณา และจะมีดีล M&A เร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB
สำหรับข้อกำหนดที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank คือผู้ขออนุญาตต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรกของการประกอบธุรกิจ รวมถึงมีเงินทุนเพียงพอสำหรับเป็นเงินทุนสำรองในการบริหารงาน
บริษัทมองว่าบริษัทและพันธมิตรนั้นมีศักยภาพในการเข้าร่วมขออนุญาต Virtual Bank เนื่องจากบริษัทเองมีประสบการณ์ในด้านการเงินและบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ผ่าน Rabbit Card และ Rabbit Cash รวมถึงความสามารถในการผสมผสานความสามารถทางด้านการเงิน ข้อมูล และเทคโนโลยี เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของ VGI ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะมีการเสนอแผนเพิ่มทุน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยจะนำเงินจำนวนไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในการพัฒนาและสนับสนุนเงินลงทุนหมุนเวียนของ Virtual Bank จะทำการลงทุนโดยบริษัท หรือผ่านบริษัทย่อยของบริษัท โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบเพิ่มทุน หรือเงินให้กู้ยืม
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยที่รัฐจะตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปเวนคืนรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยในส่วนของ BTS มีรถไฟฟ้าอยู่หลายสาย อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง มองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ระบบขนส่งโดยรวม ตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
“ผมมองว่าโครงการนี้วิน-วินกันหมด หากข้อเสนอดีก็พร้อมเจรจาด้วย ซึ่งปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 60% ของกรุงเทพฯ แล้ว โดยเฉพาะถนนสายหลัก ๆ” นายคีรี กล่าว
ส่วนการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยการนำรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่เวนคืน โอนเข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุน และขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนและสถาบัน ส่วนผลตอบแทนคาดว่าจะมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion charge (ค่าเข้าเมือง) ซึ่งจะจัดเก็บส่วนของรถที่จะเข้ามาในพื้นที่ที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์แล้ว
สำหรับรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก รวมทั้งส่วนต่อขยายจากค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง O&M จะมีต่ออีก 18 ปี นับจากวันสิ้นสุดสัมปทานสายสีเขียวในปี 2572 ประเมินรายได้ไว้ที่ 2.8 แสนล้านบาท ดังนั้นแม้รัฐจะไม่ต่ออายุสัมปทานให้ บริษัทก็ยังคงมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ จากรายงานของกทม.ระบุ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก หรือส่วนสัมปทาน กรุงเทพมหานครให้สัมปทานเอกชน 30 ปี (5 ธ.ค. 2542-4 ธ.ค. 2572) หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างเดินรถ (5 ธ.ค. 2572-2 พ.ค. 2585)
ขณะที่ 1)ส่วนต่อขยาย 1 กทม. ทำสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถระยะเวลา 30 ปี (ปี 2555-2585) ประกอบด้วย ค่าบริหารระบบ 1,785,191,276 บาท ค่าเดินรถและซ่อมบำรุง 187,790,303,724 บาท 2)ส่วนต่อขยาย 2 กรุงเทพมหานครมอบหมายให้บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) และบริหารจัดการเดินรถระยะเวลา 26 ปี (ปี 2559-2585) โดยให้บริษัทดำเนินโครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กรุงเทพมหานครตกลงให้บริษัทนำรายได้ค่าโดยสารมาชำระค่าใช้จ่าย
ส่วนหนี้ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้กทม.และกรุงเทพธนาคมร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ให้บีทีเอส รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ขณะนี้กทม.ยังไม่มีการติดต่อเข้ามาเจรจากับบีทีเอสแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่กทม.จะต้องจ่ายเพิ่มคิดอัตรา 7 ล้านบาทต่อวัน หากยังไม่ชำระหนี้
นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่า BTS พร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงิน 42,000 ล้านบาท และพร้อมจะสู้ราคาทุกเจ้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีจำนวนสถานี 20 สถานี ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด มีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง นอกจากนี้ยังขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียจะเป็นลักษณะค่าเดินรถและซ่อมบำรุง โดยเป็นระบบรางเบา โดยอยู่ระหว่างการเจรจา