“ภาคบริการ-ท่องเที่ยว” ดันดัชนี “เชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค” ส.ค.67 โตต่อเนื่อง

กระทรวงการคลัง เปิดตัวเลขดัชนี “ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค” ประจำเดือน ส.ค. 67” สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคบริการของภาคเหนือและภาคใต้ แต่ยังต้องติดตามความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2567 จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดของสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคบริการของภาคเหนือและภาคใต้ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามประเด็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 78.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีโดยเฉพาะภาคบริการ โดยคาดว่า การท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและเอกชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่คาดว่าจะช่วยให้การใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของภาคเกษตร และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะโรงงานผลิตแบตเตอรี่กราฟีนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ระดับ 80.2

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 77.1 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะในภาคบริการ จากการจัดกิจกรรมกระตุ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และการเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานและการลงทุนในภาคบริการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัว ข้อมูลการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ปริมาณผลผลิตการเกษตรสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปที่เพิ่มขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 75.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นในภาคเกษตรได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าเกษตรที่มีอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงจะเริ่มเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 73.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคบริการ จากการเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่ และมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะเดียวกันภาคเกษตรได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในระยะถัดไปจะเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยแล้ง และต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 71.1 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี ประกอบกับมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน และภาคการลงทุนมีแรงส่งจากอุปสงค์ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 63.6 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 62.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี โดยมีปัจจัยบวกจากภาคเกษตรและภาคบริการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ ประกอบกับคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกและมีปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องติดตามความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าและบริการ รวมทั้งติดตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

Back to top button