KIAT จับมือ UAC เซ็น MOU พัฒนาตลาดขนส่งด้วย “eTruck” ในสปป.ลาว

KIAT-UAC จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใน สปป.ลาว เพื่อรับงานขนส่งเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยด้วยรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คาดจดทะเบียนเสร็จไตรมาส 4/67


นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT เปิดเผยว่า KIAT และบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใน สปป.ลาว เพื่อรับงานขนส่งเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) ด้วยรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (eTruck) จาก Vientiane Waste Management Company Limited (VWM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ UAC ในนครลวงเวียงจันทร์ โดย KIAT จะถือหุ้น 70% และ UAC ถือหุ้น 30% คาดว่าจะจดทะเบียนบริษัทภายในไตรมาส 4/67

“การดำเนินธุรกิจขนส่งใน สปป. ลาว ครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจครั้งสำคัญของ KIAT ใน สปป. ลาว และเรามีความเชื่อมั่นว่าด้วยประสบการณ์ธุรกิจขนส่งมากกว่า 30 ปี จะสามารถพัฒนาธุรกิจในต่างแดนให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงเพราะเรามีพันธมิตรร่วมทุนที่แข็งแรงและเริ่มต้นด้วยการรับงานที่แน่นอนและชัดเจน” นางสาวมินตรา กล่าว

นางสาวมินตรา กล่าวอีกว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจใน สปป. ลาว ขณะนี้ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร แต่บริษัทร่วมทุนจะรับงานขนส่ง RDF จาก VWM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ UAC เอง ซึ่งบริหารโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานทดแทนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการขน RDF จากโรงงานจัดการขยะไปยังโรงงานปูนซิเมนต์ SCG คำม่วน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ในเครือ SCG

“แม้ว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ธุรกิจ RDF เป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการสูงใน สปป. ลาว และมีลูกค้าที่ชัดเจน และที่สำคัญเราใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกิจที่ สปป. ลาว” นางสาวมินตรา กล่าว

ด้านนายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC กล่าวว่า การเริ่มต้นด้รับงานจาก VWM ด้วย eTruck จำนวน 10 คันเพื่อขน RDF จำนวน 4,500 ตันต่อเดือน ถือเป็นการตอบโจทย์ของทุกฝ่ายที่กำลังขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจยั่งยืน (Sustainability) โดย UAC เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ KIAT เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารกิจการขนส่ง และที่สำคัญบริษัทร่วมทุนนี้มีแผนงานในการขยายธุรกิจใน สปป. ลาว โดยจะขยายเครือข่ายธุรกิจขนส่งให้แก่บริษัทอื่น ๆ ด้วย

“ที่เราต้องการใช้ eTruck ก็เพราะเราต้องการใช้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าใน สปป. ลาวที่มีราคาต่ำกว่าไทย อีกทั้งเราเองรวมถึงลูกค้าของเรา มีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานสะอาดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของโลกธุรกิจยุคใหม่” นายชัชพล กล่าว

โดยการจัดหารถ eTruck จำนวน 10 คัน จะเร่งดำเนินการภายหลังการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำเร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาสเป็กรถที่เหมาะสม ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีและคุ้มค่ามาก หากประสบความสำเร็จจะสามารถนำแนวทางนี้มาทดลองใช้กับลูกค้าของเราในอนาคตที่ประเทศไทยได้ด้วย อีกทั้งโอกาสทางธุรกิจใน สปป. ลาว ยังมีอีกมาก ซึ่งบริษัทร่วมทุนนี้จะสามารถรองรับกับความต้องการด้านโลจิสติกส์ใน สปป. ลาว ในอนาคต

Back to top button