WHA-AMATA รับกระแส “ต่างชาติ” ย้ายฐานผลิต หนุนยอดขายที่ดินพุ่ง

โบรกแนะนำ “ซื้อ” WHA-AMATA มองธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมสดใสต่อเนื่อง ลุ้นกำไรครึ่งปีหลังโตแกร่ง จากกระแสลงทุนจากต่างประเทศ หนุนยอดขายที่ดินพุ่ง โดยให้ราคาเป้าหมาย AMATA ที่ 27 บาท และ WHA ให้ราคาเป้าหมาย 6.20 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวข้องกลุ่มหุ้นนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA โดยมองการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สดใสทำให้ยอดขายและโอนที่ดินอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง ซึ่งการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นพอสมควรเฉลี่ย 28% ต่อปีมา 3 ปีติดต่อกันแล้ว (ปี 2564-2566) โดยสูงสุดในรอบสิบปีอยู่ที่ 8.48 แสนล้านบาทในปี 2566

ส่วนในครึ่งแรกของปี 2567 ยังเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4.58 แสนล้านบาท นำโดยกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สาธารณูปโภคและกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง กับยานยนต์เมื่อแบ่งตามเชื้อชาตินำโดยนักลงทุนชาวจีนตามด้วยชาวสิงคโปร์ในปี 2566 และครึ่งแรกของปี 67 ในแง่ยอดขายและโอนที่ดินรวมของทั้ง AMATA เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ปี (CAGR) ที่ 84.5% และ WHA เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ปี (CAGR) อยู่ที่ 61%

ขณะที่กำไรรวมครึ่งแรกของปี 2567 ของ AMATA และ WHA เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3.35 พันล้านบาท หลักๆ มาจาก ผลการดำเนินงานโดดเด่นของ WHA ด้วยกำไรพุ่งสูงถึง 91% ส่วนกำไรของ AMATA ลดลงเล็กน้อยราว 14% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับ AMATA ขายที่ดินได้ 1.853 พันไร่ในปี 2566 จาก 631 ไร่ต่อปีช่วงปี 2558-2562 เทียบกับยอดขายที่ดินของ WHA ที่ขายได้ 2.333 พันไร่ต่อปีช่วงปี 2565-2566 จากขายได้เฉลี่ย 920 ไร่ต่อปีช่วงก่อนโควิด

อย่างไรก็ดีทั้ง AMATA และWHA มองบวกต่อการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของกลุ่มรถไฟฟ้า (EV) และซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์หลายราย รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ท่ามกลางการย้ายฐานการผลิตเหตุจากความตึงเครียดทางการเมืองและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ของโลก

ขณะที่ทางฝ่ายวิจัยประเมินยอดขายที่ดินปี 2567-2568 ของ AMATA และ WHA อยู่ที่ 2 พันไร่ต่อปีและ 2.50-2.60 พันไร่ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้ AMATA และ WHA ขายที่ดินแต่ละรายไปแล้วราว 1.00 พันไร่ในครึ่งแรกของปี 67 หลักๆ เป็นที่ดินในไทยมากกว่าเวียดนาม ซึ่งเห็นว่ามีการชะลอตัวลง ช่วงการเปลี่ยนผู้นำสูงสุดต่างๆ ของรัฐบาล

ส่วนรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคและให้เช่าของ AMATA และ WHA คิดเป็น 54% และ 44% ของรายได้ รวมตามลำดับ โดยที่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำของ AMATA เพิ่มขึ้นช่วงปี 2565-2567 หลักๆ มาจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค (ไฟฟ้าและน้ำ) ในเวียดนาม

สำหรับ WHA ในอีกด้านหนึ่ง เห็นการเติบโตสม่ำเสมอมากกว่าในธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคของบริษัทย่อย บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 70% ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมต่างๆ ก่อนหน้านี้คิดเป็นราว 30% ของกำไรรวมน่าจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคตเพราะบริษัทร่วมและร่วมค้า (JV) ให้ผลตอบแทนที่ดี ขณะที่ประเมินว่าส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมต่างๆ จะคิดเพิ่มขึ้นเป็น 40-45% ของกำไรสุทธิในปี 2567-2568

โดยกำไรรวมในครึ่งแรกของปี 2567 ของ AMATA และ WHA คิดเป็น 47% ของประมาณการกำไรเต็มปีนี้ของทางฝ่ายวิจัย ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดไว้ด้านยอดขายและยอดโอนที่ดิน เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 บริษัท โดยกำไรและยอดขายที่ดินของ AMATA ในครึ่งหลังของปี 2567 น่าจะแข็งแกร่งกว่าในครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งคิดเป็นเพียง 30-35% ของ ประมาณการเต็มปีนี้ของทางฝ่ายวิจัย ขณะที่มีงานในมือ (Backlog) ของ AMATA ทำจุดสูงสุดแล้วอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทเพียง พอที่จะดันรายได้ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2567 เป็นต้นไป

สำหรับปี 2567 อัตราการเติบโตกำไรของ WHA น่าจะแข็งแกร่งขึ้นอยู่ที่ 15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เทียบกับอัตรการเติบโตกำไรของ AMATA ที่ 2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนปี 2568 คาดการณ์กำไรของทั้งสองบริษัทน่าจะเติบโตอยู่ที่เลขสิบกลางๆ Valuation & Action ท่ามกลางกระแสการลงทุนจากต่างประเทศเป็นใจและกำไรเติบโตดีพอสมควร

ทั้งนี้ จึงแนะนำ “ซื้อ”  AMATA และ WHA นอกจากนั้นปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนขึ้นเป็น “Overweight” (จาก Neutral) โดยให้ราคาเป้าหมายของ AMATA อยู่ที่ 27.00 บาท และ WHA ราคาเป้าหมาย 6.20 บาท

Back to top button